—–ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน จักรพรรดิองค์แล้วองค์เล่าจากราชวงศ์ต่างๆ ผลัดเปลี่ยนขึ้นมาปกครองบ้านเมือง ทรงเป็นโอรสสวรรค์ตามคติความเชื่อของชาวจีน จึงมีพระราชอำนาจล้นฟ้า ในพระราชวังมีข้ารับใช้ทั้งชายและหญิงจำนวนนับไม่ถ้วน แต่หากพูดถึงข้ารับใช้ที่ใกล้ชิดและมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ขององค์จักรพรรดิ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะกล่าวถึง ‘ขันที’ นั่นเอง

—–ขันที[1] (Eunuch) หรือที่ในภาษาจีนเรียกว่า ‘ไท่เจี้ยน[2] (太監) หรือ ‘ฮ่วนกวน’ (宦官) ใช้เป็นคำเรียกชายผู้ถูกตัดอวัยวะเพศก่อนเข้าปฏิบัติงานในวังหลวง ในจีนมีบันทึกไว้ว่าขันทีเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์อินซาง[3] (殷商 1300-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการตัดองคชาตและชาวเผ่าเชียง (羌) พร้อมบันทึกเรื่องราวไว้ว่า อู่ติงหวัง (武丁王) กษัตริย์แห่งราชวงศ์อินซางรับสั่งให้ตัดอวัยวะเพศของเชลยหนุ่มชาวเชียง แล้วนำตัวไปเป็นขันที ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ

—–จากหลักฐานดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในยุคแรกเริ่มนั้นขันทีกำเนิดมาจากบทลงโทษของราชสำนักที่กระทำต่อเชลยศึก ต่อมาแม้แต่พวกข้าราชการที่กษัตริย์ไม่พอพระทัยหรือชายสามัญชนที่ถูกนำมาเป็นทาสก็ถูกตอนให้เป็นขันทีเช่นกัน จนเมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายยุคหลายสมัยถึงราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ. 581-618) ทางการยกเลิกโทษการตอน โรงตอนขันทีในวังหลวงจึงปิดไปโดยปริยาย ขันทีในยุคหลังจึงไม่ได้เกิดจากการลงโทษอีกต่อไป หากแต่เกิดจากความสมัครใจมาเป็นขันทีของคนผู้นั้นเอง โดยผู้นั้นจะต้องทำการตอนให้เรียบร้อยเสียก่อน ในสมัยหมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) และชิง (清 ค.ศ. 1644-1911) มีชายจำนวนไม่น้อยที่เต็มใจเข้าวังเป็นขันที

เหตุใดในวังหลวงต้องมีขันที

—–วังหลวงถือเป็นศูนย์กลางการบริหารปกครองของประเทศ ภายในแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ มีกรมกองต่างๆ คอยรับผิดชอบหน้าที่แตกต่างกันไป ปริมาณงานก็มากมายทำไม่รู้จักหมด อีกทั้งงานหลายอย่างต้องใช้พละกำลังมาก นางกำนัลซึ่งเป็นผู้หญิงไม่สามารถทำงานได้หมดทุกประเภท ผู้ชายจึงเป็นตัวเลือกสำคัญในการเข้ามารับใช้ในวัง แต่ทว่าพระราชฐานฝ่ายในนั้นเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายหญิงและเป็นที่อยู่ของนางสนมกำนัลเท่านั้น ไม่มีชายใดสามารถย่างกรายเข้ามาในเขตนี้ได้นอกจากจักรพรรดิองค์เดียวเท่านั้น ผู้ชายจึงไม่อาจเข้ามาถวายงานรับใช้และพักอาศัยในเขตนี้ เว้นแต่จะสละความเป็นชายเป็นขันทีไปเสีย เพื่อให้อยู่ร่วมกับเหล่าสตรีนับพันนางได้โดยไม่เกิดเรื่องบัดสีขึ้น

—–เด็กชายจำนวนหนึ่งเนื่องจากถูกโชคชะตาบีบคั้น เกิดในครอบครัวยากจน ชีวิตลำบากอดมื้อกินมื้อ มองไม่เห็นหนทางที่จะมีชีวิตรอด การยอมขายตัวเข้าวังเป็นขันทีคือทางลัดที่จะช่วยให้เขามีรายได้มาจุนเจือครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือบางคนอาจคิดว่าถ้าโชคดีภายภาคหน้าอาจได้เป็นใหญ่เป็นโต มีเงินมีทองใช้ไม่ขาดมือ พวกเขาจึงตัดใจสละสัญลักษณ์แห่งบุรุษเพศกลายเป็นผู้ไม่สมประกอบ หมดโอกาสมีลูกหลานสืบทอดวงศ์ตระกูล เส้นทางชีวิตผิดแผกไปจากคนธรรมดาในสังคมจีนสมัยนั้น

ขั้นตอนก่อนได้เข้าวัง

—–ก่อนเข้าวัง เด็กชายผู้นั้นต้องผ่าตัดนำอวัยวะเพศออกที่โรงตอนขันทีให้เรียบร้อยก่อน โดยหมอผ่าตัดต้องเป็นผู้ชำนาญมากประสบการณ์ เพราะการตอนถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ มีความเสี่ยงสูงมากที่เด็กชายจะเสียชีวิตระหว่างการผ่าตัดได้ กระบวนการเริ่มจากพ่อแม่นำเด็กชายมาทำพิธีคารวะหมอผ่าตัดเป็นอาจารย์ โดยมอบเงินและเหล้าพอเป็นค่าครู พร้อมลงนามในสัญญายินยอมเข้ารับการผ่าตัด เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องขึ้นภายหลังหากการผ่าตัดผิดพลาดจนถึงแก่ชีวิต นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดว่าหากภายภาคหน้าเด็กชายผู้นั้นได้เป็นขันทีตำแหน่งใหญ่โต ร่ำรวยเงินทอง ต้องกลับมาทดแทนบุญคุณหมอผ่าตัดอีกด้วย

—–ก่อนผ่าตัดเด็กชายต้องงดน้ำและอาหาร ทั้งยังต้องขับของเสียในร่างกายออกมาให้หมด เมื่อถึงเวลาหมอจะจับแขนขาและเอวของเด็กชายมัดเชือกตึงแน่นจนไม่อาจกระดุกกระดิก เพื่อไม่ให้เด็กชายดิ้นตอนผ่าตัด หมอผ่าตัดจะถามยืนยันกับเด็กชายถึง 3 ครั้งว่าสมัครใจตอนเองและจะไม่เสียใจภายหลังใช่หรือไม่ เผื่อว่าเปลี่ยนใจยังแก้ไขได้ทันเวลา แต่เมื่อเด็กชายยืนยันแล้ว หมอก็จะลงมือทันที

—–หมอจะนำเหล้าจีนดีกรีแรงและน้ำต้มยาสมุนไพรกรอกปาก เพื่อให้เด็กชายเกิดอาการมึนงง ตาพร่ามัว ร่างกายชาและกระตุกไปทั้งตัว หมอจะใช้มีดคมกริบผ่าตัดนำองคชาตและลูกอัณฑะด้านในออก หลังจากนั้นหมอจะนำมีดมาลนไฟจนแดง แล้วนำไปนาบกับแผลผ่าตัดเพื่อฆ่าเชื้อโรค พร้อมนำสมุนไพรบดหยาบมาแปะบริเวณแผลเพื่อห้ามเลือด จากนั้นหมอจะนำหลอดเล็กๆ ที่ทำจากก้านขนไก่มาเสียบเข้าไปในรูปัสสาวะ เพื่อไม่ให้ผิวหนังบริเวณนั้นสมานติดกันจนปิดรูขับถ่าย แล้วจึงให้เด็กชายนอนพักบนเตียงในห้องที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิด เพื่อไม่ให้สัมผัสกับอากาศภายนอก แผลจะได้ไม่ติดเชื้อและอักเสบ

—–หลังการผ่าตัด เด็กชายต้องใช้เวลาพักผ่อนราว 3 วัน โดยไม่สามารถกินอะไรได้เลย นอกจากโจ๊กเหลว และต้องพยายามไม่ขับถ่าย เพื่อปากแผลจะได้ไม่ฉีกกว้างขึ้น นอกจากนี้หมอจะนำน้ำดีหมูมาทาบริเวณปากแผลเพื่อลดอาการบวม เมื่อผ่านไป 3 วัน อาการถึงจะค่อยๆ ดีขึ้นจนเด็กชายสามารถลุกจากเตียงและเดินเหินได้บ้างแต่ยังต้องมีคนคอยช่วยพยุง

—–ส่วนอวัยวะเพศที่ตัดไปแล้วนั้น หมอผ่าตัดจะนำไปคลุกกับปูนขาว เพื่อดูดความชื้นจะได้ไม่เน่าเปื่อย แล้วนำผ้าแดงมามัดห่อไว้ให้แน่น หมอบางคนคืนให้เด็กชายนำไปใส่กล่องไม้ เพื่อเก็บไว้บนคานบ้านหรือในศาลบรรพชน เพราะถือเป็นของสูง แต่บางคนก็เก็บไว้เอง แล้วนำไปห้อยไว้กับคานในศาลาขันที เพื่ออวยพรให้เด็กชายผู้นั้นได้เป็นขันทีที่มีชีวิตเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป และเมื่อวันใดที่ขันทีผู้นั้นฐานะดีขึ้น มีเงินมีทอง ก็จะมาไถ่ถอนของรักของหวงของตนเองคืนตามคติความเชื่อชาวจีนในสมัยนั้นที่ว่า อวัยวะทุกชิ้นในร่างกายล้วนเป็นสิ่งล้ำค่าที่บุพการีให้มา ต้องรักษาไว้ยิ่งชีพ หากตอนมีชีวิตมิอาจรักษาไว้กับตัวได้ ตอนตายก็ต้องนำกลับมาเย็บติดกับตัวหรือฝังรวมกันให้จงได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีหน้าไปพบกับวิญญาณบรรพบุรุษในปรโลก และชาติหน้าจะต้องกลับมาเกิดเป็นคนพิการ ขันทีหลายคนโชคร้ายมีเหตุให้ไม่อาจได้ของรักของหวงตนเองกลับคืนมา จำต้องทำของเทียมเลียนแบบก็มี

ชีวิตหลังกำแพงวัง

—–เมื่อร่างกายของเด็กชายฟื้นตัวเป็นปกติก็ถึงเวลาที่เหล่าเด็กชายจะเข้าวังตรวจร่างกายและแสดงหลักฐานเพื่อเป็นขันทีโดยสมบูรณ์ เมื่อผ่านการคัดกรองจากกรมขันที (太監府) แล้ว ขันทีแต่ละคนจะถูกส่งไปปฏิบัติงานตามห้องต่างๆ ในวัง อาทิ ห้องบรรทม ห้องทรงพระอักษร ห้องเครื่อง หรือไม่ก็กระจายไปตามแต่ละตำหนักเพื่อไปปรนนิบัติรับใช้จักรพรรดิหรือเจ้านายฝ่ายหญิงองค์ต่างๆ ไปจนแก่ชรา ไม่ได้ออกจากวังไปทำอาชีพอื่น

—–ขันทีผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด พูดจามีวาทศิลป์ รู้จักใกล้ชิดเอาอกเอาใจนาย นายมักจะรักและเอ็นดู ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานสำคัญต่างๆ อำนาจของขันทีก็มาจากการส่งเสริมของนาย หลายคนได้รับพระราชทานตำแหน่งข้าราชการและทรัพย์สินเงินทองมากมาย ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นบุญวาสนาของขันทีผู้นั้น แต่ยังมีขันทีอีกหลายคนที่ชีวิตไม่ได้สุขสบายนัก แต่ละวันต้องตรากตรำทำงานหนัก ถ้าไม่เสียชีวิตไปก่อนตอนอยู่ในวัง เมื่อถึงวัยชราก็ต้องปลดเกษียณกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิดหรืออยู่รวมกับขันทีเฒ่าคนอื่นๆ ในหมู่บ้านขันที

—–ความจริงอีกเรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ขันทีหรือทาสรับใช้แห่งวังหลวงถูกทำให้พิการทั้งกายและใจ เนื่องจากถูกตอนอวัยวะเพศตั้งแต่ยังเป็นเด็กชาย จึงส่งผลให้ขาดฮอร์โมนเพศชายและมีพัฒนาการที่ผิดปกติตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยชรา ใบหน้าไร้หนวดเครา เสียงแหลมเล็ก แขนขายาวเก้งก้างไม่สมส่วน หลังค่อม มือไม้และท่าทางการเดินกระตุ้งกระติ้ง มักอั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ เนื้อตัวจึงมีกลิ่นปัสสาวะแห้งๆ อยู่ตลอดเวลา ส่วนอารมณ์ความรู้สึกก็แปรปรวนและรุนแรงกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์รัก เกลียด โกรธ หรือเศร้า

—–สถานภาพของขันทีในราชสำนักนั้นต่ำต้อยมาก พวกเขามักถูกดูแคลนจากคนชนชั้นอื่นอยู่เสมอว่าเป็นเพียงข้าทาสอวัยวะพิการ ชายก็ไม่ใช่ใช่ หญิงก็ไม่เชิง สิ่งนี้สร้างปมในใจให้แก่ขันทีอยู่ไม่น้อย พวกเขาต้องทนรับแรงกดดันในชีวิตมาโดยตลอดว่าตนเป็น ‘คนขาด’ หรือ ‘คนไม่สมบูรณ์’ จึงมักเห็นขันทีพยายามแสวงหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มในสิ่งที่ขาดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งยศศักดิ์ อำนาจ หรือทรัพย์สินเงินทอง

—–ซ้ำร้ายชีวิตในวังหลวงยังต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันตลอดเวลา ต่างคนต่างแบ่งพรรคแบ่งพวก ต้องระมัดระวังตัวในทุกฝีก้าว เจ้านายคือเจ้าชีวิตที่ทั้งชาติต้องยอมพลีกายถวายหัวให้ และหวังได้พึ่งใบบุญเพื่อความอยู่รอด ขันทีหลายคนที่พยายามไต่เต้าให้หลุดพ้นจากสภาพทาสรับใช้ผู้ต่ำต้อยจนได้กลายเป็นที่ปรึกษาคู่พระทัยขององค์จักรพรรดิก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อยตามหน้าประวัติศาสตร์

—–อีกเรื่องหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ เนื่องจากขันทีมีลักษณะคล้ายหญิงจึงมักถูกองค์ชายที่เริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มใช้เป็นเครื่องรองรับอารมณ์ทางเพศ บางคนกลายเป็นคู่ขาของฮ่องเต้จนเกิดความใกล้ชิด ขันทีจึงมีโอกาสก้าวก่ายราชการแผ่นดิน

—–นอกจากนี้ขันทียังเป็นผู้ดูแลองค์ชายทั้งหลายมาแต่เด็ก เมื่อองค์ชายเหล่านั้นมีอำนาจวาสนาก็มักจะเชื่อขันทีที่เคยเลี้ยงดูตัวเองมา เช่น พระเจ้าฮั่นหลิงตี้ (漢靈帝) หรือพระเจ้าเลนเต้ในเรื่องสามก๊ก ผู้เคารพรักขันทีจางร่าง (张让) หรือเตียวเหยียงในเรื่องสามก๊กมากถึงขนาดเรียกว่า อาฟู่ (阿父 ภาษาแต้จิ๋วว่า อาเป๋) หมายถึง พ่อ ต่อมาจางร่างและพรรคพวกขันทีคนอื่นๆ รวมตัวกันเป็นกลุ่มขันทีทั้งสิบซึ่งทรงอำนาจมากในราชสำนักจนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์ฮั่นล่มจม

—–ยิ่งยุคสมัยใดมีจักรพรรดิอ่อนแอ หูเบา โง่เขลาด้วยแล้ว ย่อมถูกขันทีจอมบงการชักจูงได้โดยง่าย ถึงแม้ว่าราชสำนักมีกฎเหล็กห้ามขันทีก้าวก่ายกิจการบริหารบ้านเมือง แต่บ่อยครั้งกลับกลายเป็นว่าขันทีคือผู้กุมอำนาจที่แท้จริง โดยใช้วิธีอ้างพระนามจักรพรรดิในการสั่งการทุกอย่าง และใช้อิทธิพลตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวมากมายมหาศาล เมื่อจักรพรรดิเป็นเพียงหุ่นเชิด แล้วขันทีชั่วเป็นคนเชิดหุ่น บ้านเมืองย่อมเกิดกลียุค โกลาหลวุ่นวาย ราษฎรเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า สุดท้ายขันทีเหล่านั้นมักจบชีวิตลงอย่างน่าสังเวชใจ อาทิ

จ้าวเกา (趙高) แห่งราชวงศ์ฉิน (秦221-206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ผู้ปลงพระชนม์จักรพรรดิฉินที่ 2 (二世皇帝) โอรสของจิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇帝) และมีส่วนทำให้ราชวงศ์ฉินต้องล่มสลายในระยะเวลาอันสั้น

เว่ยจงเสียน (魏忠賢) แห่งราชวงศ์หมิง ผู้มีอำนาจสั่งการทุกอย่างในราชสำนักสมัยจักรพรรดิหมิงซีจง (明熹宗) สามารถชี้เป็นชี้ตายข้าราชการและราษฎรทั่วทั้งแผ่นดิน เป็นช่วงที่แผ่นดินจีนตกอยู่ในความหวาดกลัวอย่างถึงที่สุด

หลี่เหลียนอิง (李蓮英) แห่งราชวงศ์ชิง ผู้ทรงอิทธิพลแห่งราชสำนักและร่ำรวยจากเงินสินบนมหาศาล ทั้งยังเป็นมหาขันทีคู่พระทัยพระนางซูสีไทเฮา (慈禧太后)

—–เห็นได้ชัดว่าบทบาทของขันทีจีนเหล่านี้เป็นทั้งผู้ถูกกระทำที่น่าสงสารและผู้กระทำที่น่าชิงชังอย่างมิอาจแยกกันได้ แต่ก็ใช่ว่าประวัติศาสตร์จีนจะมีแต่ขันทีโฉดชั่วเท่านั้น ขันทีดีที่สร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติก็ย่อมมีเช่นกัน อาทิ

ไช่หลุน (蔡倫) แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (东汉 ค.ศ. 25-220) ผู้ประดิษฐ์กระดาษ ทำให้มนุษยชาติมีกระดาษใช้กันในปัจจุบัน

เจิ้งเหอ (鄭和) แห่งราชวงศ์หมิง นักเดินเรือผู้สำรวจเส้นทางเดินทะเลถึง 7 ครั้ง ระยะทางกว่า 50,000 กิโลเมตร เยือนดินแดนกว่า 30 ประเทศ ช่วยเปิดเส้นทางการค้าและโลกทัศน์ของชาวจีนในสมัยนั้นให้กว้างไกลขึ้น

เกร็ดความรู้

—–นอกจากราชสำนักจีนแล้ว ราชสำนักไทยในสมัยอยุธยาก็เคยมีขันทีเช่นกัน โดยมีควบคู่ไปกับนักเทศ ซึ่งทั้งสองล้วนเป็นชายที่ถูกตอนเพื่อรับใช้งานฝ่ายใน ขันทีซื้อจากจีน ส่วนนักเทศซื้อจากเปอร์เซีย (อิหร่าน) ไม่มีการตอนคนไทยด้วยกันเป็นขันที ภายหลังเมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยา ขันทีและนักเทศจึงหมดตามไปด้วย

—–แม้ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จะทรงฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ แต่ก็ทรงยกเลิกระบบขันทีและนักเทศในราชสำนักอย่างเด็ดขาด ทั้งขันทีและนักเทศจึงหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

[1] คำว่า ‘ขันที’ สันนิษฐานว่าแผลงมาจากคำว่า ‘ขณฺฑ’ (ขัณฑะ) ในภาษาสันสกฤต ซึ่งหมายถึง ไม่สมบูรณ์ ขาดหายไป ทำลาย ตัดทิ้ง เป็นต้น ในภาษาอังกฤษเรียกขันทีว่า ‘ยูนุก’ (Eunuch) ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษากรีก ‘ยูโนคอส’ (Eunouchos) แปลว่า ผู้ดูแลรักษาเตียง มีหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้กษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองละกาสช์ (Lagash) ของชาวสุเมเรียนในดินแดนเมโสโปเตเมีย ราว 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช

[2] ปกติแล้ว ขันที หรือ ไท่เจี้ยน คือข้ารับใช้ชายในวังหลวง ไม่มีตำแหน่งราชการ แต่หากได้ไต่เต้าขึ้นเป็นหัวหน้างานก็จะได้รับพระราชทานตำแหน่ง โดยหัวหน้าขันทีสูงสุดจะได้รับตำแหน่งข้าราชการระดับ 4  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ขันทีจะขึ้นถึงได้ (ข้าราชการจีนแบ่งออกเป็น 9 ระดับ ระดับ 1 คือระดับสูงสุด)

[3] ราชวงศ์อินซาง คือ ราชวงศ์ซางยุคหลัง เริ่มนับตั้งแต่ย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองอิน (殷) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเมืองอันหยาง (安阳) มณฑลเหอหนาน (河南)

เรื่องโดย พงศ์ศิษฏ์ อุดหนุนสมบัติ