—–การนวดกดจุด (穴位按摩) เป็นศาสตร์การรักษาแขนงหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีน และมีผู้รับช่วงต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน การนวดกดจุดช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากอาการเหนื่อยล้าเพราะการทำงาน ลดอาการตึงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ระบบโลหิตไหลเวียนดีขึ้น และยังทำได้เองที่บ้านอีกด้วย
—–ในสังคมยุคปัจจุบันโดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่มักจะต้องเพ่งมองจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน อีกทั้งต้องอยู่ในอิริยาบถเดียวกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การนั่งทำงานวันละหลายชั่วโมง การนั่งผิดวิธีจนทำให้กระดูกสันหลังคด ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามตัว หัว หลัง บ่า ข้อมือ รวมถึงปวดนัยน์ตา การนวดกดจุดช่วยลดหรือบรรเทาอาการปวดเหล่านี้ได้ ในบทความนี้จึงขอนำเสนอจุดสำหรับกดบรรเทาอาการปวดบริเวณต่างๆ ดังนี้
จุดแก้อาการปวดหรือมึนหัว
จุดที่ 1 จุดยิ้นถาง (印堂穴)
จุดยิ้นถางอยู่ตรงกึ่งกลางหว่างคิ้วทั้งสองข้าง
วิธีกดจุดยิ้นถาง
วิธีที่ 1
- ใช้นิ้วชี้แตะจุดยิ้นถาง
- กดจุดยิ้นถางเบาๆ 10 ครั้ง
- คลึงวนซ้าย 20-30 รอบ หลังจากนั้นคลึงวนขวาอีก 20-30 รอบ
วิธีที่ 2
- ใช้นิ้วกลางแตะจุดยิ้นถาง
- คลึงวนไปมา วันละครั้ง ครั้งละ 2-3 นาที
ประโยชน์ของการกดจุดยิ้นถาง
ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว เวียนหัว ตาลาย ตาล้า และยังช่วยผ่อนคลายความเครียดได้อีกด้วย
การป้องกันอาการปวด
- พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนให้ได้วันละ 7-8 ชั่วโมง
- เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- สะสางปัญหาอย่างใจเย็น ไม่ควรเครียดกับปัญหามากจนเกินไป เพราะอาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้
จุดแก้อาการปวดตา
จุดที่ 2 จุดเฉิงชี่ (承泣穴)
จุดเฉิงชี่อยู่ ใต้เปลือกตาล่าง
วิธีกดจุดเฉิงชี่
- ให้มองตรง หลับตาทั้งสองข้าง และใช้นิ้วชี้จิ้มตรงใต้เปลือกตาทั้งสองข้าง
- คลึงวนไปมาอย่างเบามือ (ควรตัดเล็บให้สั้นเพื่อไม่ให้เล็บทิ่มตา)
ประโยชน์ของการกดจุดเฉิงชี่
ช่วยบรรเทาอาการปวดตา ตาล้า จากการเพ่งจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน
การป้องกันอาการปวด
- ไม่ควรเพ่งมองหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ควรหยุดพักสายตาเป็นครั้งคราว
- ควรปรับแสงสว่างของจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือให้เหมาะสม ไม่จ้าและไม่มืดจนเกินไป
- ไม่ควรนั่งใกล้หน้าต่างมาก เนื่องจากตรงนั้นเป็นจุดรับแสงอาทิตย์จากภายนอกและอาจทำให้เราแสบตาได้
จุดแก้อาการปวดฝ่ามือ
จุดที่ 3 จุดอวี๋จี้ (鱼际穴)
จุดอวี๋จี้อยู่ตรงส่วนโคนนิ้วหัวแม่มือ
วิธีกดจุดอวี๋จี้
- เหยียดแขนตรง จะเห็นข้อต่อกระดูกใต้โคนนิ้วหัวแม่มือที่นูนขึ้นมา
- ใช้นิ้วหัวแม่มือของมืออีกข้างจับและคลึงเบาๆ (ระวังอย่าให้แรงเกินไป)
- คลึงเบาๆ วันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที
ประโยชน์ของการกดจุดอวี๋จี้
ช่วยคลายอาการปวดข้อมือสำหรับผู้ที่จับเม้าส์ทำงานเป็นเวลานาน หรือผู้ที่ซักผ้า บิดผ้า เย็บปักถักร้อย ขับรถ เล่นโทรศัพท์มือถือ และถือของหนักเป็นเวลานาน
การป้องกันอาการปวด
ไม่ควรใช้ข้อมืออย่างหักโหม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือในอิริยาบถเดียวกันอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานโดยไม่พักเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
จุดแก้อาการปวดหลัง
จุดที่ 4 จุดต้าจู้ (大杼穴)
จุดต้าจู้อยู่ตรงด้านข้างของกระดูกสันหลังส่วนบนที่นูนออกมาเวลาก้มศีรษะ
วิธีกดจุดต้าจู้
- แตะท้ายทอยตรงกระดูกสันหลังส่วนบน คลำหากระดูกส่วนที่นูนออกมา
- จุดต้าจู้อยู่ห่างจากกระดูกส่วนที่นูนนั้นไปทางด้านข้างทั้ง 2 ประมาณ 5 นิ้ว
- นวดคลึงจุดนี้วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที
จุดที่ 5 จุดโฮ่วซี (后溪穴)
จุดโฮ่วซีอยู่ตรงด้านข้างของฝ่ามือ ในส่วนข้อต่อโคนนิ้วก้อย วิธีการหาจุดโฮ่วซีคือต้องกำมือหลวมๆ จะเห็นรอยย่นตรงโคนนิ้วก้อย และส่วนปลายรอยย่นนั้นคือจุดโฮ่วซี
วิธีกดจุดโฮ่วซี
- งอแขนทำมุมประมาณ 45 องศา
- กำมือหลวมๆ
- ใช้ปลายเล็บจิกเบาๆ แล้วคลึงจุดโฮ่วซี 3-4 นาทีต่อครั้ง (ทำเมื่อรู้สึกปวด)
ประโยชน์ของการกดจุดต้าจู้และจุดโฮ่วซี
ช่วยลดอาการคอแข็ง ปวดคอ ท้ายทอย เอว หลัง บ่า และอาการตึงของกล้ามเนื้อส่วนหลัง
การป้องกันอาการปวด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ไม่ควรก้มหน้าทำงานเป็นเวลานาน ควรลุกขึ้นมายืดกล้ามเนื้อแผ่นหลังทุกๆ 50 นาที ครั้งละ 5-10 นาที ด้วยความระมัดระวัง
- หาหมอนรองคอมาใช้เพื่อรองรับน้ำหนักของศีรษะ
จุดแก้อาการปวดเอว
จุดที่ 6 จุดเยาเหยี่ยน (腰眼穴)
จุดเยาเหยี่ยนอยู่ตรงแผ่นหลังช่วงเอวถัดจากกระดูกสันหลังไปด้านข้าง 3-4 นิ้ว และเวลานอนคว่ำจะเป็นรอยบุ๋ม
วิธีกดจุดเยาเยี่ยน
วิธีที่ 1 กรณีที่คนอื่นกดให้
- กำมือทั้งสองข้างหลวมๆ ยกนิ้วโป้งขึ้น
- ใช้นิ้วโป้งกด ออกแรงคลึงวนไปมา 30-50 ครั้ง
วิธีที่ 2 กรณีที่กดด้วยตนเอง
- เท้าเอวโดยคว่ำมือลง มือจับที่ตรงจุดเยาเหยี่ยน
- ใช้นิ้วกลางคลึงวนไปมา ควรออกแรงเล็กน้อย 15-30 ครั้ง
ประโยชน์ของการกดจุดเยาเหยี่ยน
ช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง คลายอาการกล้ามเนื้อส่วนหลังตึง ปวดท้อง ปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อย
การป้องกันอาการปวด
การนั่งทำงานในอิริยาบถเดียวกันอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย ควรลุกเดินทุกๆ 50 นาที และควรบิดยืดกล้ามเนื้อแผ่นหลัง
คำเตือน : กลุ่มคนที่ไม่เหมาะกับการนวดกดจุด
- ผู้ที่กำลังหิวหรืออิ่มมากเกินไป หรือมีอาการเมาสุรา
- ผู้ได้รับบาดเจ็บจนกล้ามเนื้อหรือเอ็นอักเสบ เช่น ข้อเท้าแพลง มีอาการอักเสบ บวม เป็นต้น
- ผู้มีภาวะกระดูกพรุนหรือโรคปวดข้อกระดูก เช่น ปวดบริเวณกระดูกก้นกบหรือกระดูกเชิงกราน เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีเนื้องอก เป็นวัณโรค โรคหัวใจ โรคสมอง โรคปอด และโรคตับ รวมทั้งผู้ป่วยโรคเลือดและระบบน้ำเหลือง
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับผิวหนัง
- สตรีมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดบุตรใหม่ๆ
- ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต
เรื่องและภาพโดย ธนกร วิวิธพรมงคล