—–เมื่อสมบัติล้ำค่าของประเทศอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่จากภัยสงคราม ผู้นำจึงสั่งย้ายสมบัติไปยังที่ปลอดภัย ภารกิจครั้งนี้ต้องประสบกับอุปสรรคนานัปการ ทั้งเรื่องจำนวนสมบัติมหาศาลนับหมื่นลัง การคุ้มกันสมบัติที่มิอาจประเมินค่าได้ ระยะทางไกลสุดลูกหูลูกตา เวลาอันยาวนานไม่จบไม่สิ้น น่าติดตามว่าภารกิจขนย้ายสมบัติครั้งนี้สำเร็จผลได้อย่างไร

 

สมบัติท่ามกลางวิกฤตการณ์

—–ช่วงหนึ่งในยุคสาธารณรัฐจีน (中華民國時期) จักรวรรดิญี่ปุ่นมีอำนาจบริหารทางรถไฟแมนจูเรียสายใต้อย่างเบ็ดเสร็จ รัฐบาลญี่ปุ่นส่งทหารมาควบคุมดูแลความปลอดภัยของทางรถไฟตลอดเวลา ทว่าวันที่ 18 กันยายน 1931 รางรถไฟส่วนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองมุกเดน (ปัจจุบันคือเมืองเสิ่นหยาง 瀋陽) เกิดระเบิดขึ้น กองทัพญี่ปุ่นจึงใช้เหตุการณ์นี้มาเป็นข้ออ้างในการรุกรานแมนจูเรีย (滿洲) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของจีน เหตุการณ์นี้เรียกว่ากรณีมุกเดน (九一八事變) ส่งผลให้สมบัติล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์กู้กงเมืองเป่ยผิง (北平 ชื่อเดิมของปักกิ่ง) ต้องเผชิญภาวะวิกฤต

ทหารญี่ปุ่นคุมตัวชาวจีนในกรณีมุกเดน

—–จางจี้ (張繼 ค.ศ. 1882-1947) สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง (國民黨) เห็นว่าควรเคลื่อนย้ายสมบัติทั้งหมดลงใต้เพื่อความปลอดภัย จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์กู้กงเป่ยผิงบรรจุสมบัติลงลังไม้เพื่อเตรียมเคลื่อนย้าย ฤดูใบไม้ร่วงปี 1932 เจ้าหน้าที่เริ่มคัดเลือกและบรรจุหีบห่อสมบัติชิ้นสำคัญ การคัดเลือกกินเวลาหลายเดือน เนื่องจากเป็นงานละเอียด จนในที่สุดได้สมบัติล้ำค่า ประกอบด้วยงานจิตรกรรมเกือบ 9,000 ภาพ เครื่องกระเบื้องกว่า 2.7 หมื่นชิ้น เครื่องสำริด เช่น กระจกสำริด ตราประทับสำริดกว่า 2,600 ชิ้น เครื่องหยกจำนวนนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ยังมีหนังสือชุด เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) และราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) อีกด้วย

เจ้าหน้าที่บรรจุสมบัติ

—–ขั้นตอนบรรจุสมบัติลงลังไม้นั้น เจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดสมบัติแต่ละชิ้น ตรวจสอบชื่อ อายุ ขนาด สี และลวดลาย พร้อมทั้งบันทึกหมายเลขและจัดหมวดหมู่ มีการแบ่งเจ้าหน้าที่เป็นคณะทำงานชุดเล็กๆ เพื่อปฏิบัติงานตามประเภท เช่น เครื่องสำริด เครื่องกระเบื้อง เครื่องหยก ภาพวาด ฯลฯ

—–นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กู้กงยังเชิญผู้เชี่ยวชาญจากร้านจำหน่ายวัตถุโบราณในย่านหลิวหลีฉ่าง (琉璃廠) มาถ่ายทอดวิธีห่อสมบัติและบรรจุลงลังไม้เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ถึงแม้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณคอยให้คำแนะนำแล้ว แต่งานหีบห่อต้องอาศัยความละเอียด บางเรื่องเจ้าหน้าที่ต้องลองผิดลองถูกเอง มีการทดสอบด้วยการโยนลังลงพื้น เจ้าหน้าที่บรรจงห่อสมบัติทีละชิ้นอย่างบรรจงโดยเฉพาะเครื่องกระเบื้องซึ่งมีจำนวนหนึ่งในสามของสมบัติทั้งหมด เนื่องจากเสียหายได้ง่าย จานกระเบื้องแต่ละใบถูกพัน 5-6 ทบ บุด้วยฝ้าย ห่อด้วยกระดาษอีกชั้น สุดท้ายใช้เชือกมัดแล้วจึงบรรจุลงลังไม้ เมื่อบรรจุเสร็จเรียบร้อยก็ติดกระดาษประทับตราพิพิธภัณฑ์ วัน เดือน และปีที่ปิดผนึก

เจ้าหน้าที่ขนลังสมบัติในพระราชวังต้องห้าม

สมบัติออกเดินทาง

—–เมื่อจีนเสียด่านซานไห่กวน (山海關) ให้แก่กองทัพญี่ปุ่นในวันที่ 2 มกราคม 1933 คณะกรรมการของพิพิธภัณฑ์กู้กงเป่ยผิงลงความเห็นว่าจะทยอยเคลื่อนย้ายสมบัติในพิพิธภัณฑ์ไปยังเซี่ยงไฮ้ (上海) คืนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ สมบัติล็อตแรก 2,118 ลังก็เคลื่อนออกจากประตูเสินอู่ (神武門) เดินทางลงใต้

รถลากขนสมบัติหน้าพิพิธภัณฑ์กู้กง

—–กุมภาพันธ์-มีนาคม 1933 มีการรวบรวมสมบัติล้ำค่ากว่า 13,427 ลังกับอีก 64 ห่อ เดินทางจากเป่ยผิงไปยังเซี่ยงไฮ้ สมบัติล้ำค่าจำนวนมหาศาลได้รับการรวบรวมจากพระราชวังกู้กงเป่ยผิง สถานที่จัดแสดงวัตถุโบราณเป่ยผิง (北平古物陳列所 พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของจีนที่รวบรวมสมบัติจากพระราชวัง) พระราชวังฤดูร้อน (頤和園) และโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน (國子監) แต่ละล็อตมีผู้เชี่ยวชาญที่กู้กงและทหารเดินทางไปด้วย

 

เส้นทางเคลื่อนสมบัติ

—–สมบัติที่มาถึงเซี่ยงไฮ้ถูกเก็บไว้ในเขตเช่าฝรั่งเศสที่ถนนย่าเอ่อร์เผย (亞爾培路 ปัจจุบันคือถนนส่านซีใต้) ครั้นโกดังเก็บของที่พระราชวังเฉาเทียน (朝天宮) สร้างเสร็จเมื่อปลายปี 1936 สมบัติก็ถูกเคลื่อนย้ายไปยังหนานจิง (南京) ปี 1937 เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นกับกองทัพคณะปฏิวัติแห่งชาติจีนที่สะพานมาร์โค โปโลซึ่งชาวจีนเรียกว่า ‘เหตุการณ์วันที่ 7 เดือน 7’ (七七事變) สมบัติซึ่งย้ายมาจากกู้กงก็ถูกผนวกรวมกับสมบัติที่พิพิธภัณฑ์ส่วนกลางแห่งชาติ (國立中央博物院 ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์หนานจิง)

เหตุการณ์ปะทะที่สะพานมาร์โค โปโล

จากนั้นจึงแบ่งสมบัติเป็นสามส่วน ขนแยกสามเส้นทางไปทางตะวันตกของประเทศ ได้แก่

  1. เส้นทางเหนือ ขนสมบัติ 7,287 ลัง เดินทางไปที่อำเภอเอ๋อเหมยเซี่ยน (峨嵋縣)
  2. เส้นทางกลาง ขนสมบัติ 9,331 ลัง เดินทางไปที่อำเภอเล่อซานเซี่ยน (樂山縣)
  3. เส้นทางใต้ ขนสมบัติ 80 ลัง เดินทางไปที่อำเภอปาเซี่ยน (巴縣)

—–สมบัติ 80 ลังที่ขนในเส้นทางใต้แม้มีจำนวนน้อยกว่า แต่ล้วนเป็นสมบัติล้ำค่ายิ่ง ประกอบด้วยกระดองเต่าที่สลักอักษรโบราณ (甲骨文) ภาชนะโบราณจงติ่ง (鐘鼎) อักษรศิลาจารึก (碑拓) ภาพทัศนาจรซีซาน《溪山行旅圖》ของฟ่านควาน (范寬 ประมาณ ค.ศ. 950-1032) ภาพลมพัดสนหมื่นหุบเขา《萬壑松風圖》ของหลี่ถัง (李唐 ค.ศ. 1066-1150) ภาพชิงหมิงซ่างเหอถู《清明上河圖》ของจางเจ๋อตวน (張擇端 ประมาณ ค.ศ. 1085-1145) ส่วนสมบัติเส้นทางใต้เก็บไว้ชั่วคราวที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยหูหนาน (湖南大學) ขณะนั้นหม่าเหิง (馬衡 ค.ศ.1881-1955) ซึ่งเพิ่งขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กู้กงเป่ยผิงสั่งให้ขบวนสมบัติเส้นทางกลางออกเดินทาง ส่วนตนเองรีบเดินทางไปฉางซา เขาพบว่าตีนเขาเยว่ลู่ซาน (岳麓山) เหมาะสำหรับการขุดโพรงเพื่อซ่อนสมบัติ ไม่กี่อาทิตย์โพรงก็ขุดแล้วเสร็จ ต่อมาหม่าเหิงได้รับข่าวว่ากองทัพญี่ปุ่นกำลังจะทิ้งระเบิดที่ฉางซา จึงต้องรีบขนย้ายสมบัติไปยังกุ้ยโจว (貴州) โดยด่วน หลังจากสมบัติถูกย้ายออกไปไม่นาน เครื่องบินกองทัพญี่ปุ่นจำนวนมากก็โจมตีจนห้องสมุดของมหาวิทยาลัยหูหนานราบเป็นหน้ากลอง

—–ขบวนสมบัติเส้นทางเหนือก็ประสบภัยไม่แพ้กัน ขณะขนถ่ายสมบัติจากรถไฟลงเรือ เครื่องบินกองทัพญี่ปุ่นก็บุกทิ้งระเบิดจนสถานีรถไฟเจิ้งโจว (鄭州) กลายเป็นทะเลเพลิง เจ้าหน้าที่เสี่ยงตายขับรถไฟฝ่าเปลวเพลิงออกไปจอดในที่ปลอดภัย ทั้งสามเส้นทางใช้เวลากว่า 10 ปีจึงเดินทางถึงมณฑลเสฉวน

เส้นทางขนสมบัติ

—–จนกระทั่งสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 สิ้นสุด จึงย้ายสมบัติของทั้งสามแห่งไปรวมที่ฉงชิ่ง (重慶) และส่งกลับหนานจิงอีกครั้งในปีถัดมา สมบัติที่หนานจิงส่วนหนึ่งเป็นของสะสมที่ตกทอดกันมาในวังหลวง บางส่วนเป็นสมบัติของประเทศ ในบรรดาสมบัติล้ำค่า มีสมบัติที่เลื่องลือหลายชิ้น เช่น เหมากงติ่ง (毛公鼎) หยกผักกาดขาว (翠玉白菜) หินหมูสามชั้น (東坡肉石) งานเขียนพู่กันไคว่เสวี่ยสือฉิงเทีย《快雪時晴帖》และแท่นหินสือกู่ (石鼓) นับ 10 ชิ้น ฯลฯ

 

แบ่งสมบัติ’    

—–ปลายปี 1948 ถึงต้นปี 1949 พรรคก๊กมินตั๋งต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อชิงอำนาจปกครองแผ่นดินจีน ก่อนจะพ่ายแพ้และถอยร่นไปยังเกาะไต้หวันพร้อมกับตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่นั่น ขณะเดียวกันก็สั่งให้เจ้าหน้าที่กู้กงแบ่งสมบัติจำนวน 2,972 ลัง (คิดเป็นร้อยละ 22 ของสมบัติทั้งหมด) ขนไปยังเกาะไต้หวันด้วย ปัจจุบันสมบัติดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กงไทเป (台北故宮博物院)

—–ปี 1951 สมบัติซึ่งค้างอยู่ที่หนานจิงกว่า 1 หมื่นลังถูกขนกลับไปยังพิพิธภัณฑ์กู้กงปักกิ่ง เหลืออีก 2,221 ลังซึ่งยังคงอยู่ที่โกดังหนานจิง และมีแผนว่าจะขนกลับไปยังนครปักกิ่งในอนาคต

แผนที่เส้นทางการเคลื่อนย้ายสมบัติ

ระหว่างทาง

—–สมบัติถูกขนไปไกลกว่าครึ่งประเทศด้วยยานพาหนะหลายชนิด ทั้งรถลาก รถยนต์ รถไฟ และเรือ เป็นระยะทางกว่า 2 หมื่นกิโลเมตร กินเวลายาวนานถึง 15 ปี จึงเกิดเหตุร้ายที่ไม่คาดคิดขึ้นมากมาย เช่น เจ้าหน้าที่ทำปืนลั่นที่เขาเล่อซาน รถบรรทุกพลิกคว่ำ ลังสมบัติตกน้ำ ซึ่งก่อความเสียหายจนไม่อาจซ่อมแซมสมบัติบางชิ้นให้เหมือนเดิมได้ แต่ถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนสมบัติทั้งหมดในภารกิจครั้งนี้ สิ่งสำคัญคือไม่มีสมบัติสูญหายแม้แต่ชิ้นเดียว!

—–ตลอดภารกิจเคลื่อนย้ายสมบัติต้องปกปิดเป็นความลับเพื่อความปลอดภัย มีครั้งหนึ่งที่ข่าวการเคลื่อนสมบัติรั่วไหลที่เมืองสวีโจว (徐州) กองโจรกลุ่มหนึ่งวางแผนปล้นรถไฟที่ใช้ขนสมบัติ แต่ทางการท้องถิ่นปราบปรามได้ทันก่อนที่รถไฟจะวิ่งผ่าน

—–สถานที่เก็บสมบัติชั่วคราวในสมัยนั้นไม่ได้เป็นอาคารที่ปลอดภัยเหมือนในปัจจุบัน แต่มักเก็บไว้ที่ศาลบรรพชน วัด หรือถ้ำตามภูเขา ‘ศัตรู’ จึงไม่ได้มีแค่กองทัพญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโจรท้องถิ่น ความชื้น มด ปลวก หนู ฯลฯ ในการป้องกันแมลงจำพวกปลวก ความชื้น และเชื้อโรคนั้น เจ้าหน้าที่ต้องนำสมบัติออกมาตากแดดเป็นระยะ การตากแดดต้องมีเทคนิค เพราะสมบัติแต่ละชิ้นใช้เวลาตากแดดไม่เท่ากัน บางชิ้นก็ไม่ควรตากแดด นอกจากนี้ยังเชิญคนกำจัดแมลงมาฉีดยาฆ่าแมลง ทุกขั้นตอนต้องมีผู้เชี่ยวชาญและทหารดูแลเฝ้าระวังและเซ็นชื่อเพื่อรับผิดชอบ

—–นอกจากนี้ขณะเดินทางเจ้าหน้าที่ต้องบันทึกรายละเอียดทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นเวลาออกเดินทาง ประเภทยานพาหนะ การเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะ การทำความสะอาด ฯลฯ

—–กล่าวกันว่าขณะปฏิบัติภารกิจ ชะตาชีวิตของเจ้าหน้าที่ทุกคนล้วนขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสมบัติทั้งหมด คนในกู้กงในยุคนั้นมองว่าสมบัติเหล่านี้สำคัญยิ่งชีพ เป็นสิ่งที่สูงส่ง จึงดูแลรักษาเป็นอย่างดี คุณงามความดีของเจ้าหน้าที่ในครั้งนั้นไม่เคยถูกลืมเลือนจากใจของประชาชนชาวจีน

ภาพถ่ายเจ้าหน้าที่กู้กง

—–ปี 2010 ในวาระครบรอบการสร้างพิพิธภัณฑ์กู้กง 85 ปี พระราชวังต้องห้าม 590 ปี และครบรอบชัยชนะเหนือลัทธิฟาสซิสต์ 65 ปี พิพิธภัณฑ์กู้กงปักกิ่งได้จัดกิจกรรมสำรวจเส้นทางการเคลื่อนสมบัติลงใต้ ส่วนพิพิธภัณฑ์กู้กงไต้หวันและพิพิธภัณฑ์หนานจิงก็ขานรับงานครั้งนี้ การเดินทางกินเวลาครึ่งเดือน ผ่านสี่มณฑลแปดเมือง ตั้งแต่หนานจิง กุ้ยหยาง (貴陽) อันซุ่น (安順) เป่าจี (寶雞) ฮั่นจง (漢中) เฉิงตู (成都) ฉงชิ่ง จนถึงเอ๋อเหมย กระทั่งสิ้นสุดเมื่อ 18 มิถุนายน 2010 ประเด็นสำคัญของการสำรวจเส้นทางคือการย้อนรำลึกถึงผู้คนและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เยี่ยมชมสมบัติที่ยังถูกทิ้งไว้ และศึกษาเอกสารที่ยังหลงเหลืออยู่

—–วีรกรรมการเคลื่อนย้ายสมบัติในครั้งนี้ต้องอาศัยแรงกายแรงใจจากผู้มีส่วนร่วมทุกคน เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่และบ้านเกิดเมืองนอน เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นส่วนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์จีน เพราะช่วยรักษาสมบัติล้ำค่าของประเทศเอาไว้ไม่ให้เสียหาย แม้ว่าภารกิจจะยากลำบาก แต่ก็สำเร็จลุล่วงไปได้ตามความมุ่งมั่นอดทนและเสียสละของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏนาม…

 

เรื่องโดย กลิ่นเก่า