—–ความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณในแผ่นดินจีนเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคบรรพกาล เนื่องจากความไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ทั้งภัยธรรมชาติ การเกิด แก่ เจ็บ และตาย รวมทั้งความหวาดกลัวต่อชีวิตหลังความตาย เพราะเข้าใจว่าเมื่อมนุษย์ตายแล้วจะต้องไปอาศัยอยู่ในอีกโลกหนึ่ง จึงเกิดวัฒนธรรมการเซ่นไหว้ผีหรือการบูชาโทเท็มผี (鬼圖騰) ซึ่งเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สิงสถิตของวิญญาณ
อักษร ‘กุ่ย’ (鬼) ยุคอักษรกระดองเต่า
—–อักษร ‘กุ่ย’ (鬼) ซึ่งหมายถึงผี จัดเป็นอักษรภาพ ปรากฏตั้งแต่ยุคอักษรกระดองเต่า (甲骨文) ส่วนล่างของตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงคน ส่วนบนลักษณะคล้ายสมองที่สยดสยอง บ้างว่าคล้ายใบหน้าที่สวมหน้ากากอันน่าสะพรึงกลัว เป็นจินตนาการถึงสัตว์ประหลาดที่มีร่างกายคล้ายมนุษย์ คัมภีร์ ‘อักขรานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ’ 《說文解字》(อธิบายลายสือวิเคราะห์ตัวอักษร) อธิบายอักษร ‘กุ่ย’ เอาไว้ว่า ‘เมื่อคนตายแล้วเรียกว่าผี (鬼) ตัวอักษร鬼 มีอักษร人 เป็นส่วนประกอบ แต่สวมหน้ากากผีเอาไว้ ผีมีพลังหยิน (陰) จึงส่งผลร้ายต่อมนุษย์ ตัวอักษรที่มีความหมายเกี่ยวกับวิญญาณจะมี 鬼 เป็นส่วนประกอบ’ ; พจนานุกรมคำศัพท์โบราณ 《古漢語字典》 ให้ความหมายของคำว่า ‘กุ่ย’ ไว้ว่า ‘สิ่งที่กลายสภาพมาจากดวงวิญญาณของคนหลังจากที่ตายแล้ว’ ; ส่วนพจนานุกรมซินหัว《新華大字典》ให้ความหมายว่า ‘วิญญาณของคนที่ตายแล้วเรียกว่าผี’ (人死後的精靈叫鬼) จากความหมายของตัวอักษรและโบราณวัตถุที่หลงเหลือจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ผู้คนในยุคโบราณยอมรับว่าผีและวิญญาณมีอยู่จริง จึงเกิดเป็นความหวาดกลัวและศรัทธา
—–กล่าวกันว่าในอดีตเคยมีคนใช้แซ่ ‘กุ่ย’ (鬼) แต่ปัจจุบันเลือนหายไปตามกาลเวลา บ้างก็ว่าแซ่ดังกล่าวเพี้ยนเป็นแซ่กุย (歸) แล้ว แต่ขณะเดียวกันที่ญี่ปุ่นยังมีคนใช้แซ่ ‘กุ่ย’ อยู่จนถึงปัจจุบัน
คัมภีร์ชุนชิว
—–เรื่องผีและวิญญาณในวัฒนธรรมจีนยุคแรกเป็นมุขปาฐะ คือเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาแบบปากต่อปาก จนกระทั่งมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ไล่ตั้งแต่สมัยชุนชิว (春秋 770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) คัมภีร์หลุนอวี่ 《論語》 และคัมภีร์หลี่จี้ หลี่ชี่ 《禮記•禮器》มีบันทึกประเพณีที่เกี่ยวกับเทพและภูติผีปีศาจ ; ในยุคต่อๆ มาล้วนมีการบันทึกเกี่ยวกับผีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์กุยฉาง《歸藏》และหวงตี้ซัว《黃帝說》 ในสมัยจ้านกั๋ว (戰國 475 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 221) ; บันทึกต้งหมิงจี้ 《洞冥記》บันทึกอี้เหวินจี้ 《異聞記》 ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (漢 206 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) ; คัมภีร์โป๋อู้จื้อ 《博物誌》บันทึกโซวเสินจี้《搜神記》ในยุคหกราชวงศ์ (六朝 ค.ศ. 222-589) ; คัมภีร์ตำนานพิศดาร《傳奇》บันทึกตู๋อี้จื้อ《獨異志》บันทึกกู่จิ้งจี้《古鏡記》 ในสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) ; บันทึกไท่ผิงกว่างจี้ 《太平廣記》ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) ; บันทึกเบ็ดเตล็ดเฉิงไจ《誠齋雜記》ในสมัยราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1206-1368) ; กระทั่งถึงสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) ถือเป็นยุคทองของนิยายที่เกี่ยวกับภูตผีปีศาจ เช่น เรื่องห้องสิน《封神傳》 ไซอิ๋ว 《西遊記》; สมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) มีหนังสือเกี่ยวกับผีมากมายนับไม่ถ้วน เรื่องที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือเรื่องเหลียวไจจื้ออี้《聊齋誌異》 (เคยนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง คนไทยรู้จักกันในชื่อโปเยโปโลเย)
วัฒนธรรมเรื่องผีในสังคมจีน
—–วัฒนธรรมเรื่องผีและวิญญาณดำรงอยู่ในสังคมจีนมาอย่างยาวนาน โดยผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมจีนกระแสหลักอย่างรวดเร็ว และหยั่งรากลึกลงในสังคม รวมทั้งแผ่อิทธิพลไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ในด้านวรรณคดี ผีถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแยกแยะผิดชอบชั่วดีให้แก่มนุษย์ เช่น เรื่องนรก 18 ขุม 《十八層地獄》 ที่สอนเรื่องการส่งผู้ทำความชั่วไปยังนรกแต่ละขุมตามระดับความชั่ว ซึ่งช่วยให้ผู้คนเกรงกลัวความผิด กระทำแต่ความดี
นรก 18 ขุม
—–จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ก่อนสมัยราชวงศ์โจว (周 1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ชาวยิน (殷人) เชื่อเรื่องภูติผีเทวดาอย่างยิ่ง โดยเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติมีวิญญาณสถิตอยู่ ทั้งพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว ลม ฝน แม่น้ำ ภูเขา ฯลฯ จึงจำเป็นต้องทำพิธีเซ่นไหว้เพื่อลดพิบัติภัยไม่ให้เกิดเหตุร้ายแก่ผู้คน การเซ่นไหว้นั้นมีหลากหลายวิธี นอกจากนี้ชาวยินยังเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วจะกลายเป็นวิญญาณเช่นเดียวกับผีสางในธรรมชาติที่อาจทำอันตรายต่อลูกหลานได้
—–หลังสมัยราชวงศ์โจวเป็นต้นมา เกิดระบบตระกูลแซ่แบบจงฝ่า (宗法) คือระบบศักดินาแซ่ มีการเคารพบูชาโคตรวงศ์บรรพบุรุษ ความคิดที่ว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะทำอันตรายต่อชีวิตเริ่มเสื่อมไป เพราะคนยุคนั้นคิดว่าวิญญาณของบรรพบุรุษปฏิบัติตามหลักคุณธรรม เคารพเชิดชูคุณธรรม อันจะนำมาซึ่งความผาสุก ไม่มีทางทำอันตรายลูกหลานอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงเปลี่ยนแนวคิดในการเซ่นไหว้และบูชาบรรพบุรุษ มิได้เซ่นไหว้จากความหวาดกลัวอีกต่อไป เกิดพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ศาลบรรพชน (祠祭) ที่บ้าน (家祭) หรือที่หลุมศพ (墓祭) เวลาผ่านไปมีสถานที่ดังกล่าวแพร่หลายทั่วแผ่นดินมังกร สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น แม้แต่ในละคร นวนิยาย หรืออุปรากรที่เกี่ยวข้องกับผีในแต่ละยุค ก็กล่าวถึงศาลบรรพชน หลุมศพ สุสาน ฯลฯ เสมอมา ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมเรื่องผีของจีนจึงเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับระบบศักดินาแซ่ ส่งผลให้แตกต่างจากประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับผีในดินแดนอื่นๆ
ผีกับศาสนาเต๋า
—–สังคมจีนสมัยโบราณได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศาสนาเต๋า โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับผีและวิญญาณ ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ในหมู่ชาวบ้านเป็นที่มาอย่างหนึ่งของศาสนาเต๋า ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือติดต่อระหว่างมนุษย์กับภูติผีเทวดา ผู้คนเชื่อว่าหมอผีสามารถทำนายฝัน ทำนายอนาคต รักษาโรค ขอฝน ทำนายโชคชะตาจากดวงดาว ฯลฯ ถือเป็นอาชีพที่ขาดไม่ได้ในขณะนั้น นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บเกิดจากภูติผีวิญญาณ จึงต้องกำจัดด้วยวิธีไสยศาสตร์ ต่อมาในยุคสังคมศักดินาเรื่องไสยศาสตร์เสื่อมความนิยมลง นักพรตเต๋าเข้ามาแทนที่หมอผี เกิดพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีและวิญญาณ เช่น พิธีศพ พิธีไล่ผี พิธีทำบุญให้วิญญาณผู้ตาย เป็นต้น
—–ความเชื่อของศาสนาเต๋าที่ว่ามนุษย์สามารถเป็นเซียนเหาะขึ้นสวรรค์ ส่งผลให้เกิดระบบเทพเจ้า คาดกันว่าเทพของเต๋ามีมากกว่า 430 องค์ จากการศึกษาคัมภีร์ที่รวบรวมคัมภีร์เต๋าที่ชื่อ ‘เต้าจ้าง’ 《道藏》พบว่า เทพเจ้าของศาสนาเต๋ามีความพิเศษคือ มีชื่อ มีแซ่ มีรูปร่าง มีตัวตน มีอารมณ์ มีความต้องการ บางองค์มีประวัติก่อนจะบรรลุเต๋า ความเชื่อแบบดั้งเดิมคือคนตายแล้วจะเป็นผีหรือวิญญาณ แต่การเสกสรรปั้นแต่งเรื่องเทพเจ้าของศาสนาเต๋าทำให้ผู้คนต้องการบรรลุเต๋า เพราะอาจได้เป็นเทพหรือเซียน ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมเรื่องผีและวิญญาณของจีนที่เกี่ยวกับศาสนาเต๋าจึงมีการผสมผสานระหว่างผี เทพ และเซียน
ผีกับพุทธศาสนา
—–พุทธศาสนาในแผ่นดินจีนเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในยุคสามก๊ก (三國 ค.ศ. 220-280) ราชวงศ์จิ้น (晉 ค.ศ. 265-420) ถึงราชวงศ์เหนือใต้ (南北朝 ค.ศ. 420-589) พุทธศาสนาหยั่งรากแนวคิดเรื่องนรกในจิตส่วนลึกของชาวจีน หากเปรียบเทียบกับแนวคิดเรื่องนรกที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว แนวคิดเรื่องนรกของพุทธศาสนาโดดเด่นเรื่อง ‘การกักขัง’ มากกว่า คนที่ทำผิดบนโลกมนุษย์ ไม่ว่าก่อนตายจะยากดีมีจนอย่างไร แต่เมื่อตายแล้ววิญญาณจะถูกส่งไปยังยมโลกเพื่อพิจารณาดีชั่ว นรกทางพุทธศาสนามี 18 ขุม เชื่อว่านรกมีการลงโทษที่หลากหลาย วิญญาณของผู้ตายจะถูกลงโทษหนักหรือเบาตามความดีหรือความชั่วที่ได้กระทำก่อนตาย ในนรกยมบาลครองความเป็นใหญ่ มีผู้ช่วยด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ ถือเป็นแนวคิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมจีนดั้งเดิม ภายหลังแนวคิดเรื่องนรกของพุทธศาสนาผสมผสานกับแนวคิดเรื่องโลกแห่งความตายแบบดั้งเดิมของจีนจนเกิดเป็นแนวคิดเรื่อง ‘10 ยมบาล’ (十殿閻王) ยมบาลแต่ละองค์รับผิดชอบหน้าที่แตกต่างกัน จะเห็นได้ว่านรกในพุทธศาสนาและนรกแบบดั้งเดิมของจีนต่างอาศัยและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายที่สลับซับซ้อนอย่างยิ่ง
ภาพ 10 ยมบาล
ผีกับลัทธิหรู
—–ลัทธิหรู (儒家) เคลือบแคลงเรื่องผีและเทพมาช้านาน ขงจื่อ (孔子 551-479 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ไม่สนับสนุนให้ศึกษาเรื่องผีหรือวิญญาณ แต่ก็ไม่ได้ห้ามหากจะนับถือหรือเกรงกลัว ขงจื่อเคยตอบลูกศิษย์ที่ตั้งคำถามว่าผีมีจริงหรือไม่ว่า “ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างไร แล้วจะไปรู้เรื่องปฏิบัติต่อผีทำไม” (未能事人,焉能事鬼) แต่อีกด้านหนึ่ง ลัทธิหรูให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่พิธีศพหรือพิธีเซ่นไหว้ซึ่งเกี่ยวกับผีหรือวิญญาณ มีผู้มองว่าลัทธิหรูเชื่อเรื่องการมีอยู่ของผีหรือเทพเจ้าซึ่งก็ไม่ผิด แต่แท้จริงแล้วการที่ให้ความสำคัญแก่พิธีศพหรือพิธีเซ่นไหว้ไม่ใช่เพราะผีหรือเทพ แต่เพราะต้องการปลูกฝังให้ผู้คนสนใจคุณธรรมพื้นฐานในการดำเนินชีวิต อันได้แก่ ความซื่อสัตย์ภักดี (忠) ความกตัญญู (孝) เมตตาธรรม (仁) และความเที่ยงธรรม (義) ดังที่เจิงเซิน (曾參 505-435 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ศิษย์คนสำคัญของขงจื่อเคยอธิบายไว้ว่า ควรยกย่องความดีของบรรพบุรุษตอนที่มีชีวิตอยู่ นำความดีนั้นมาสั่งสอนให้คนรุ่นหลังรู้จักคุณธรรม ซึ่งส่งผลดีต่อคนที่ยังอยู่ หรือเรียกได้ว่า ‘ใช้ผีสอนคน’ เมื่อการเคารพบูชาโคตรวงศ์บรรพบุรุษเป็นที่ยอมรับและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ลัทธิหรูก็เน้นเรื่องพิธีศพหรือพิธีเซ่นไหว้มากขึ้น การจัดพิธีศพได้ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์หลี่จี้ 《禮記》อันเป็นคัมภีร์พิธีกรรม บันทึกดังกล่าวทำให้ทราบหลักการ เหตุผล และขอบข่ายการจัดพิธีศพ กล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาและผลักดันเรื่องผีและวิญญาณที่เด่นชัดที่สุด ขณะเดียวกันยังทำให้วัฒนธรรมเรื่องผีและวิญญาณของจีนแฝงด้วยหลักจริยธรรม
ผีจีน
—–ผีจีนที่คนไทยรู้จัก ในภาษาจีนเรียกว่า ‘เจียงซือ’ (殭屍) มีที่มาจากตำนานศพคืนชีพสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง กล่าวกันว่าเจียงซือเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ของศาสนาเต๋า ชาวจีนเชื่อว่าศพของผู้ตายต้องถูกฝังที่บ้านเกิด สมัยโบราณการคมนาคมยังไม่สะดวก บางศพถูกฝังไว้ต่างถิ่น นักบวชจึงต้องทำพิธีปลุกศพให้ลุกขึ้นกระโดดตามเป็นขบวนเพื่อกลับบ้านเกิด มีการติดยันต์ไว้บนหน้าผาก และสั่นกระดิ่งเป็นจังหวะเพื่อควบคุม ถือเป็นพิธีลับ ห้ามให้ผู้คนทั่วไปเห็น
เจียงซือในภาพยนตร์
—–อีกกระแสหนึ่งเชื่อว่าเจียงซือเกิดจากศพที่ตายตาไม่หลับ โดยทั่วไปเจียงซือมักตัวซีดแข็งทื่อ เล็บดำ ปลายเล็บและฟันแหลม กลัวแสงแดด ตอนกลางวันหลบอยู่ในโลงศพหรือถ้ำ กลางคืนออกกินเลือดมนุษย์ เคลื่อนที่ด้วยการกระโดดพร้อมกับเกร็งแขนเหยียดไปข้างหน้า
—–เจียงซือที่เป็นภาพจำของคนไทยคือเจียงซือราชวงศ์ชิง ทั้งนี้เพราะอิทธิพลของภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ฮ่องกงที่เข้าฉายในไทย เรื่องที่มีชื่อเสียงได้แก่ชุด ‘ผีกัดอย่ากัดตอบ’ (僵屍先生) เจียงซือประเภทนี้สวมชุดขุนนางสมัยราชวงศ์ชิง ปรากฏตัวตอนกลางคืน คนที่ถูกดูดเลือดกลายเป็นเจียงซือเช่นกัน มีลักษณะเด่นคือดวงตามองไม่เห็น ตามหาเป้าหมายจากลมหายใจ หากเป้าหมายกลั้นหายใจพวกมันก็จะหาตัวไม่พบ คัมภีร์โบราณบางเล่มบันทึกว่ามีหลายสิ่งที่เจียงซือกลัว เช่น กระจก สัญลักษณ์ยันต์แปดเหลี่ยม (八卦) ลูกท้อ ไฟ ข้าวชนิดต่างๆ ฯลฯ
—–วัฒนธรรมเรื่องผีและวิญญาณของจีนผ่านวิวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย ขณะเดียวกันก็ถูกปรุงแต่งด้วยความเชื่อและศาสนาอันหลากหลายจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่เปี่ยมด้วยสีสัน แม้ว่าปัจจุบันมนุษย์เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในธรรมชาติจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทว่าความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณก็ยังคงมีอยู่ไม่เฉพาะบนแผ่นดินจีน แต่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ทั่วโลก และหลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างแยกไม่ออก
เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์