—–สนมเจินเฟย (珍妃 ค.ศ. 1876-1900) เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1876 มีพี่สาวต่างมารดาคือสนมจิ่นเฟย (瑾妃 ค.ศ. 1873-1924) บิดามีนามว่าจ่างซวี่ (長敘) เป็นผู้ช่วยประจำกระทรวงพิธีกรรม (禮部) ส่วนมารดาแซ่จ้าว (赵) เมื่อสนมเจินเฟยและสนมจิ่นเฟยมีอายุ 13 และ 15 ปีตามลำดับก็ได้รับการคัดเลือกเข้าวังหลวงมาเป็นนางกำนัล (嬪) ครั้นเวลาผ่านไป 5 ปี ทั้งคู่ก็เลื่อนตำแหน่งเป็นพระสนม (妃) ในจักรพรรดิกวงซวี่ (光緒帝 ค.ศ. 1871-1908) สนมจิ่นเฟยเป็นคนเงียบเฉย จักรพรรดิกวงซวี่จึงไม่โปรด ส่วนสนมเจินเฟยเป็นคนสะสวย มีนิสัยร่าเริงและยังฉลาดหลักแหลมจักรพรรดิกวงซวี่จึงทรงโปรด ด้วยความที่อาศัยอยู่กับจ่างซ่าน (長善) ผู้เป็นลุงและแม่ทัพอยู่ที่กว่างโจว (廣州) มาตั้งแต่เด็ก สนมเจินเฟยจึงได้รับความคิดแบบสมัยใหม่โดยปริยาย

จักรพรรดิกวงซวี่

—–ในระยะแรกพระนางซูสีไทเฮายังโปรดสนมเจินเฟยอยู่ จึงมีรับสั่งให้ช่วยตรวจสอบเอกสารราชการ ซึ่งนางปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง นางยังมีฝีมือด้านลายสือศิลป์และการวาดภาพ จึงมักถูกวานให้เขียนอักษรมงคลเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่เหล่าขุนนางในราชสำนัก

—–แต่ชนวนเหตุแห่งความไม่พอพระทัยของพระนางซูสีไทเฮาเกิดจากการที่จักรพรรดิกวงซวี่โปรดสนมเจินเฟยเป็นพิเศษ จนเป็นเหตุให้ไม่นำพาฮองเฮาหลงอวี้ (隆裕皇后 ค.ศ. 1868-1913) ทั้งที่นางได้รับการสถาปนาเป็นฮองเฮาโดยพระนางซูสีไทเฮา แต่จักรพรรดิกวงซวี่ก็มิได้มีความเสน่หาในตัวนางแม้แต่น้อย เวลาล่วงเลยไปทั้งสองก็ยิ่งนิ่งเฉยต่อกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ความประสงค์ของพระนางซูสีไทเฮาที่หวังจะใช้ฮองเฮาหลงอวี้คอยกำกับดูแลจักรพรรดิกวงซวี่ก็ริบหรี่ลง

ฮองเฮาหลงอวี้

—–ช่วงที่สนมเจินเฟยแรกเข้าวังนั้น เทคโนโลยีการถ่ายภาพได้เข้ามาในแผ่นดินจีนแล้ว ผู้คนยุคนั้นยังมีความเชื่อว่ากล้องถ่ายภาพจะดูดวิญญาณของคนในภาพไป ทว่าด้วยความที่หลงใหลเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่แบบตะวันตก ดังนั้นสนมเจินเฟยจึงสั่งซื้อกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ครบชุดจากนอกพระราชวัง ถือว่านางเป็นชาววังคนแรกที่นำกล้องถ่ายภาพเข้ามาใช้ในวังหลวงตั้งแต่ ค.ศ. 1894 นางขลุกอยู่ในตำหนักจิ่งเหรินกง (景仁宫) ของตนเพื่อเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพ ไม่เพียงถ่ายภาพตนเอง แต่ยังถ่ายภาพจักรพรรดิกวงซวี่รวมทั้งบรรดาข้าราชบริพาร อีกทั้งถวายการสอนเทคนิคการถ่ายภาพแด่จักรพรรดิกวงซวี่ถึงพระที่นั่งหย่างซินเตี้ยน (養心殿) อันเป็นที่ประทับขององค์จักรพรรดิด้วย

พระที่นั่งหย่างซินเตี้ยน

—–สนมเจินเฟยเป็นคนนิยมการแต่งตัว ชอบแต่งตัวเป็นผู้ชาย เวลาตามเสด็จจักรพรรดิกวงซวี่ก็มักแต่งตัวเป็นขุนนาง ถักเปียยาว สวมหมวกสีแดงแบบราชวงศ์ชิง และสวมชุดคลุมตัวใหญ่ จนดูเหมือนชายรูปงาม ทั้งสองถ่ายรูปช่วงเวลาอันแสนสุขไว้ แต่พฤติกรรมดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์หรือข้อกำหนดของวังหลวง ไม่นานนักเรื่องบัดสีนี้ก็ถึงพระกรรณของซูสีไทเฮา พระองค์ทรงกริ้วอย่างมาก ลงโทษสนมเจินเฟยด้วยการตบปาก ทว่าสนมเจินเฟยก็มิได้เข็ดหลาบแต่อย่างใด

—–ต่อมาพระนางซูสีไทเฮาทรงได้เบาะแสว่าขันทีนามไต้อันผิง (戴安平) ผู้อยู่ประจำตำหนักของสนมเจินเฟยมักออกไปยังร้านถ่ายรูปนอกวังหลวง พระนางจึงสั่งให้คนไปสืบจนทราบว่าสนมเจินเฟยนำเงินเก็บไปเปิดร้านถ่ายรูป พระนางทรงกริ้วยิ่งกว่าเดิม มีรับสั่งให้ปิดร้านถ่ายรูป ประหารชีวิตไต้อันผิง และโบยสนมเจินเฟย เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สนมเจินเฟยซึ่งกำลังตั้งครรภ์ 3 เดือนแท้งลูก และมีอาการของโรคทางนรีเวช (เกี่ยวกับระบบสืบพันธ์) ในภายหลัง จึงมิได้ตั้งครรภ์อีกเลย

—–นอกจากนี้พระนางซูสีไทเฮายังกล่าวโทษว่าสนมเจินเฟยพัวพันกับการซื้อขายตำแหน่งขุนนาง แต่ประเด็นนี้ยังต้องศึกษากันต่อไปว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่

สนมเจินเฟย

—–ประเด็นสำคัญที่ทำให้สนมเจินเฟยถูกเพ่งเล็งคือการก้าวก่ายเรื่องในราชสำนัก นางมีความคิดสอดคล้องกับจักรพรรดิกวงซวี่ และสนับสนุนให้พระองค์ปฏิรูปประเทศ เนื่องจากในช่วงนั้นประเทศเกิดความเสื่อมโทรม ถูกต่างชาติเข้ามาเอารัดเอาเปรียบอยู่เป็นนิจ จักรพรรดิกวงซวี่และผู้สนับสนุนตัดสินใจปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยเทียบเท่าอารยประเทศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1898 เป้าหมายหลักคือปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร การศึกษา แต่การปฏิรูปดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพระนางซูสีไทเฮาโดยตรง ฝ่ายปฏิรูปจึงวางแผนจับกุมตัวพระนาง แต่ก็พลาดหวังเพราะมีผู้เสียผลประโยชน์ลอบนำข่าวไปรายงานพระนาง การปฏิรูปสิ้นสุดลงด้วยความล้มเหลวของคณะปฏิรูปเมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1898 รวมระยะเวลา 103 วัน จึงเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ‘การปฏิรูปร้อยวัน‘ (戊戌變法)

—–หลังเหตุการณ์ พระนางซูสีไทเฮาจึงยึดอำนาจจากจักรพรรดิกวงซวี่ สั่งลงโทษผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงสนมเจินเฟยซึ่งถูกโบยจนบอบช้ำและคุมขังที่ตำหนักเย็น ขณะเดียวกันก็คุมตัวจักรพรรดิกวงซวี่ไว้ไม่ให้คลาดสายตา และมักขังไว้ในตำหนักบนเกาะกลางทะเลสาบ พระนางซูสีไทเฮาสั่งให้เก็บเรือทุกลำและรื้อสะพานไม้ที่ทอดข้ามไปยังเกาะ เพื่อกันมิให้จักรพรรดิกวงซวี่แอบมาพบสนมเจินเฟย แม้กระทั่งในฤดูหนาวที่น้ำจับตัวเป็นน้ำแข็ง ก็มีรับสั่งให้ขันทีรีบกะเทาะทำลายน้ำแข็งเสีย

—–ด้วยความขุ่นเคืองพระทัยในหลายเรื่อง พระนางซูสีไทเฮาจึงมีรับสั่งให้ปลิดชีวิตสนมเจินเฟย สนมเจินเฟยที่อยู่ในตำหนักเย็นรอวันได้พบจักรพรรดิกวงซวี่อีกครั้ง หารู้ไม่ว่ากลับกลายเป็นรอเวลาตายของตนเอง

—–เซี่ยงซือ (向斯) นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงปักกิ่งระบุว่า สาเหตุการสิ้นชีวิตของสนมเจินเฟยมีความเป็นไปได้ 3 ประการ

—–ประการแรกคือ ก่อนที่พระนางซูสีไทเฮาจะลี้ภัยไปซีอาน (西安) เนื่องจากเหตุการณ์กบฏนักมวย (義和團運動) พระนางทรงพระราชดำเนินพลางครุ่นคิดอยู่ที่ศาลาจิ่งฉีเก๋อ (景祺閣) และตะเพิดข้าราชบริพารไปจนหมด หลังจากนั้นหนึ่งชั่วโมงก็มีข่าวว่าสนมเจินเฟยสิ้นพระชนม์ บางคนจึงเชื่อว่าพระนางมีรับสั่งให้ฆ่าสนมเจินเฟย

—–ประการที่สองคือ สนมเจินเฟยเผอิญได้พบจักรพรรดิกวงซวี่ที่กำลังเสด็จหนีออกนอกพระราชวัง สนมเจินเฟยแค้นใจนัก จึงโจนลงบ่อน้ำฆ่าตัวตาย

—–ประการที่สามคือ พระนางซูสีไทเฮามีรับสั่งให้ชุยอวี้กุ้ย (崔玉貴) ขันทีคนสนิทผลักสนมเจินเฟยตกบ่อน้ำหน้าตำหนักหนิงโซ่วกง (寧壽宮) เซี่ยงซือให้ความเห็นว่าข้อนี้น่าจะใกล้เคียงอย่างยิ่งกับเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์

—–หลังจากสนมเจินเฟยสิ้นใจ พระนางซูสีไทเฮามีรับสั่งให้เผาทำลายข้าวของทั้งหมดของนาง รวมทั้งภาพถ่ายจำนวนมากที่นางเคยถ่าย ปัจจุบันจึงเหลือภาพของสนมเจินเฟยเพียงภาพเดียว จากภาพจะเห็นว่านางมีใบหน้ากลม ดวงตาโต แย้มยิ้มอย่างอ่อนโยน เมื่อสนมเจินเฟยเสียชีวิตได้ปีครึ่ง พระนางซูสีไทเฮาก็พาจักรพรรดิกวงซวี่เสด็จกลับพระราชวังต้องห้าม พระนางมีพระบัญชาให้ขุดศพของสนมเจินเฟยขึ้นมาฝังที่เอินจี้จวง (恩濟莊) ชาววังต่างทราบดีว่าเอินจี้จวงเป็นสุสานสำหรับขันทีหรือนางกำนัลเท่านั้น การฝังศพของสนมเจินเฟยไว้ที่นี่จึงเป็นการหลู่พระเกียรติ และลงโทษสนมเจินเฟยให้สาสมแก่ความผิดเป็นครั้งสุดท้าย

สนมจิ่นเฟย

—–หลังจากพระนางซูสีไทเฮา ฮองเฮาหลงอวี้ และจักรพรรดิกวงซวี่สวรรคตแล้ว สนมจิ่นเฟยก็จัดการย้ายหลุมศพของน้องสาวไปยังสุสานหลวงตะวันตกแห่งราชวงศ์ชิง (清西陵) ห่างจากหลุมพระศพของจักรพรรดิกวงซวี่ไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อกู้เกียรติแห่งวงศ์สกุลที่เคยด่างพร้อย

—–ปัจจุบันบ่อน้ำที่สนมเจินเฟยเสียชีวิตได้รับการขนานนามว่า ‘บ่อเจินเฟย’ (珍妃井) และกลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมเยี่ยมชมเมื่อไปเที่ยวพระราชวังต้องห้าม เพื่อรำลึกถึงพระสนมผู้เฉลียวฉลาด มีหัวคิดก้าวหน้า พร้อมเปิดรับวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาในวังหลวงโดยไม่หวั่นหวาดอิทธิพลของผู้มีอำนาจ

บ่อเจินเฟยในปัจจุบัน

 

เหตุใดพระนางซูสีไทเฮาต้องเสด็จหนีออกจากวังหลวงช่วงเหตุการณ์กบฏนักมวย?

—–ในคริสต์ทศวรรษ 1890 ปลายรัชสมัยซึ่งพระนางซูสีไทเฮากุมอำนาจ ชาติตะวันตกได้รับเอกสิทธิ์บนแผ่นดินจีนตามสนธิสัญญาที่ทำไว้ จึงกดขี่เอาเปรียบชาวจีนและมีอภิสิทธิ์เหนือคนจีนผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน บ้างยึดที่นาของชาวบ้านมาสร้างโบสถ์ ตัดถนนหนทาง สร้างทางรถไฟ ฯลฯ ชาวจีนถูกชาวต่างชาติกดขี่ข่มเหงและถูกยัดเยียดคำสอนของศาสนาคริสต์ กอปรกับบ้านเมืองอ่อนแอจำต้องลงนามในสนธิสัญญาที่จีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบฉบับแล้วฉบับเล่า นับตั้งแต่หลังสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 หรือ ค.ศ. 1839 เป็นต้นมา สมาชิกของขบวนการนักมวยจึงได้รวมตัวกันต่อต้านชาติตะวันตกที่รุกรานจีน

—–การเคลื่อนไหวของขบวนการนักมวยได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักชิง ต่อมาในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1900 พระนางซูสีไทเฮาก็ประกาศสงครามกับ 11 ชาติที่เป็นภัยคุกคามจีนในขณะนั้น ประกอบด้วย อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สเปน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย และญี่ปุ่น

—–แต่ในที่สุดขบวนการนักมวยก็ต้องพ่ายแพ้กองทัพพันธมิตรที่มีอาวุธครบครันและทันสมัยกว่า กองทัพพันธมิตรมุ่งหน้าสู่พระราชวังต้องห้ามเพื่อจับกุมจักรพรรดิกวงซวี่ วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1900 พระนางซูสีไทเฮาซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 65 พรรษาพร้อมด้วยจักรพรรดิกวงซวี่เสด็จหนีออกจากพระราชวังเป็นการด่วนเพื่อลี้ภัยสงครามไปยังเมืองซีอาน ต่อมาในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1901 จีนยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับแปดชาติพันธมิตร โดยต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม 450 ล้านตำลึง (ประมาณ 300 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะนั้น) และแก้ไขข้อตกลงทางการค้าและการเดินเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาติตะวันตก ต่อมาพระนางซูสีไทเฮาและคณะเสด็จกลับพระราชวังต้องห้ามในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1902 อย่างปลอดภัย เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางลี้ภัยสงคราม

พระราชวังต้องห้ามไร้ผู้คนและมีหญ้าขึ้นรก หลังจากซูสีไทเฮาลี้ภัยสงครามไปซีอาน