เอ็งกอ: จากศิลปะพื้นบ้านจีนสู่วิถีชุมชนไทย

เรื่องโดย กุลสตรี กินร

 

(ภาพจาก www.southcn.com)

  • เบิกโรง

——เอ็งกอ (英歌) ในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “อิงเกอ” (Yīng gē) คือศิลปะการแสดงพื้นบ้านแบบผสมผสาน[1] ซึ่งเป็นที่นิยมในพื้นที่แถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เตี่ยซัว (潮汕)[2] และบางพื้นที่ของมณฑลฮกเกี้ยน (福建 ฝูเจี้ยน) ในวันสำคัญต่างๆ ของทุกปี เช่น เทศกาลตรุษจีน (春節) เทศกาลหยวนเซียว (元宵節) ฯลฯ จะมีการจัดกระบวนแห่อันน่าตื่นตาตื่นใจเพื่อให้เกิดความสนุกสนานตลอดมา

——เนื่องจากเอ็งกอมีลักษณะเด่นในด้านการแสดงที่ดำเนินเรื่องเสมือนละคร ผสมผสานกับลีลาการเต้นประกอบท่วงท่าการตีกลอง ศิลปะการต่อสู้แบบหมัดมวยทางตอนใต้ของจีน รวมทั้งการวาดลวดลายบนใบหน้าอย่างตัวละครงิ้ว เอ็งกอจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับประเทศ (國家級非物質文化遺產) เมื่อค.ศ. 2006

 

  • นามนี้มีที่มา

——หนังสือรวมระบำพื้นบ้านจีน หมวดกวางตุ้ง《中國民族民間舞蹈集成·廣東卷》กล่าวถึงกำเนิดเอ็งกอไว้ว่า “กำเนิดเอ็งกอนั้นต้องย้อนไปยังสมัยราชวงศ์หมิงตอนกลาง ซึ่งในขณะนั้นดนตรีและการเต้นระบำพื้นเมืองเป็นที่นิยมอย่างมาก มักใช้ประกอบพิธีเซ่นสรวงหรือบำเรอเทพเจ้า ส่วนประชาชนถือเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิง”

——ถึงกระนั้น กำเนิดเอ็งกอก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันจนถึงปัจจุบัน นักวิชาการบางส่วนอนุมานว่า เอ็งกอมีต้นเค้าจากพิธีไหว้บูชาขงจื่อ เนื่องจากมีนักแสดงทำท่วงท่ากราบไหว้บูชา รวมถึงใช้ไม้ไผ่สั้นตีประกอบจังหวะคล้ายกับพิธีบูชาขงจื่อ บ้างว่าอาจได้รับอิทธิพลจากอุปรากรจีน (中國戏曲) เพราะมีท่วงทีลีลา และเครื่องแต่งกายที่คล้ายคลึงกัน บ้างว่ากำเนิดเอ็งกอเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมเอกอันเลื่องลือเรื่อง “ซ้องกั๋ง”《水滸傳》[3] โดยเป็นศิลปะการแสดงเพื่อเชิดชูความกล้าหาญของเหล่าวีรบุรุษแห่งเขาเหลียงซาน ที่แข็งข้อต่อราชสำนักซึ่งลุแก่อำนาจและกดขี่ราษฎร หรือบ้างก็ว่า อาจเกี่ยวพันกับการแสดงยางเกอ[4] (秧歌) เพราะฆ้องและกลองที่ใช้ประกอบการแสดงเอ็งกอนั้นคล้ายการเต้นระบำกลองยางเกอจากซานตง (山東鼓子秧歌) และระบำฮวากู่จากหูหนาน (湖南花鼓) ฯลฯ ด้วยเหตุว่านอกจากกลองจะเป็นเครื่องดนตรีแล้ว ยังใช้เพื่อปลุกขวัญ สร้างกำลังใจ และสั่งการเหล่าทหารในการศึกอีกด้วย

——อย่างไรก็ตาม ความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ รวมถึงเหว่ยเฟ่ย (隗芾ค.ศ. 1938–ปัจจุบัน) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยซัวเถา (汕頭大學) เห็นพ้องกับข้อสันนิษฐานที่ว่าเอ็งกอมีรากเหง้าจากประเพณีพื้นบ้านอันหลากหลายของจีนและพัฒนามาจากระบำหน้ากากผี หรือ ระบำไล่ผี (儺舞) ซึ่งเป็นระบำพิธีเซ่นสรวงแบบโบราณที่ชาวฮั่นใช้ปัดรังควานหรือขอพรปัดเป่าโรคภัย ผู้แสดงจะสวมชุดสีโทนเข้มและสวมหน้ากากที่วาดหน้าเป็นผี ระบำแบบนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในพื้นที่หลายแห่งตามชนบท เช่น เจียงซี (江西) หูหนาน (湖南) หูเป่ย (湖北) กวางตุ้ง (廣東) ฯลฯ

  • เอ็งกอกับการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย
    • เอ็งกอเมื่อแรกเริ่ม

——ในอดีต พื้นที่เตี่ยซัวมีสภาพทุรกันดาร และเกิดภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ชาวบ้านที่นั่นจึงจัดพิธีเซ่นสรวงตามคติความเชื่อเพื่อปัดรังควาญ คือขับไล่ผีและเสนียดจัญไรให้พ้นไป โดยมีลักษณะสืบทอดมาจากพิธีกรรมเซ่นไหว้ของชนเผ่าเย่ว์ (越族)[5] ซึ่งมีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันในเรื่องการขับไล่สิ่งชั่วร้ายของชาวจงหยวน (中原)[6] จะเห็นได้ว่าการแสดงเอ็งกอในปัจจุบันก็มีส่วนของการขับไล่สิ่งชั่วร้ายเช่นเดียวกัน

——ระหว่างสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋  ค.ศ. 960–1279) จนถึงสมัยราชวงศ์หยวน (元  ค.ศ. 1279–1368) วัฒนธรรมหมิ่นหนาน (閩南文化) หรือวัฒนธรรมฮกเกี้ยน (福建文化) ได้แพร่หลายไปยังท้องถิ่นเตี่ยซัว งิ้วฮกเกี้ยนที่มีเอกลักษณ์คือการขับร้องด้วยภาษาถิ่นก็เข้าไปผสมผสานกับการแสดงพื้นบ้านของเตี่ยซัว ซึ่งในขณะนั้น มีการซอยเท้าให้เข้าจังหวะกับกลองเล็กขณะแสดง ตามแบบระบำฮวากู่เมืองผู่เถียน《莆田花鼓舞》ที่มีลีลาอ่อนช้อยและสนุกสนาน จึงอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมฮกเกี้ยนเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดเอ็งกอขึ้น

 

    • ยุคทองของเอ็งกอ

——ในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368–1644) อำเภอเตี่ยเอี๊ย (潮陽縣)[7] ได้ปรากฏการแสดงงิ้วในเอ็งกอขึ้น เป็นการถ่ายทอดเจตนารมณ์เพื่อเชิดชูการผดุงคุณธรรมของเหล่าผู้กล้าที่ต่อต้านการกดขี่ข่มเหงของชนชั้นปกครอง ต่อมา มีผู้นำการแสดงดังกล่าวไปรวมกับประเพณีแห่เจ้า (遊神) ซึ่งจัดในช่วงตรุษจีนหรือในเทศกาลอื่นๆ จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับกระบวนแห่ ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ชิงยังได้ประสมงิ้วกับศิลปะการต่อสู้จนเกิดการแสดงแบบเอ็งกอ อันแสดงออกซึ่งความแข็งแกร่งของวิทยายุทธ์จีน

 

    • เอ็งกอในปัจจุบัน

——ทุกวันนี้เอ็งกอยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมของการจัดริ้วขบวน การแต่งกายเต็มยศ และการแต่งหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ รวมทั้งการเต้น การแสดงละคร และศิลปะการต่อสู้ซึ่งพัฒนามาจากการแสดงหรือการละเล่นของชาวพื้นเมือง ภายหลังยังได้ดัดแปลงเพิ่มเติมในบางด้านด้วย อย่างการแสดงบทบาทของตัวละครให้ต้องใจผู้ชม รวมทั้งอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วมการแสดงได้อีกด้วย

 

  • รูปแบบการแสดงเอ็งกอ

——เอ็งกอนับเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มีครบครันทั้งการแสดงละคร การเต้น และศิลปะการต่อสู้ โดยแสดงพร้อมเพรียงเป็นหมู่คณะ จำนวนนักแสดงในแต่ละคณะจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ชายในหมู่บ้าน ปกติมักจัดริ้วขบวนโดยมีจำนวนนักแสดงเป็นเลขคู่ จำนวน 16-108 คนแล้วแต่คณะ ส่วนที่ได้รับความนิยมจะใช้นักแสดงจำนวน 108 คน เพื่อให้สอดคล้องกับท้องเรื่องซ้องกั๋ง ที่มีหัวหน้า 36 คนและผู้กล้าอีก 72 คน ซึ่งได้รับการขนานนามว่า 36 ขุนพลสวรรค์ 72 ขุนพลพสุธา (三十六天罡,七十二地煞)[8] นอกจากนี้ องค์ประกอบต่างๆ ในการแสดงยังตรงตามท้องเรื่อง ทั้งเครื่องแต่งกาย ลักษณะของเหล่าผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน (梁山泊)  และฉากที่เหล่าวีรบุรษปลอมตัวเป็นนักระบำ แต่งแต้มใบหน้าด้วยสีสันฉูดฉาดคล้ายงิ้วและแสดงท่าเต้นประกอบการตีไม้ ตีกลองเล็กสองหน้า และเป่าเขาควาย จนถึงการบุกเข้าไปในคุกเพื่อปลดปล่อยซ้องกั๋ง (宋江ซ่งเจียง) ผู้ตั้งตัวเป็นหัวหน้าของเหล่าวีรบุรุษ ซึ่งถูกราชสำนักกล่าวโทษว่าเป็นกบฏและถูกคุมขังไว้ออกไปได้สำเร็จ

——การแสดงชุดนี้นิยมจัดในงานการกุศลอันเนื่องในประเพณีต่างๆ เช่น ตรุษจีน เทศกาลประจำศาลเจ้า และพิธีแห่เปิดงานล้างป่าช้า เพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างความสนุกสนานครื้นเครง เวลาแสดงจะแบ่งขบวนแห่ออกเป็น 2-3 กอง หรือแล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องที่ โดยรวมจะประกอบด้วย การแสดงเต้น การแสดงร้องเพลงหรืองิ้ว และการแสดงศิลปะการต่อสู้

——ในการแสดงแต่ละครั้ง จะมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของนักแสดงแตกต่างกัน โดยทั่วไปจะมีนักแสดงนำ 2 คน เป็นผู้นำริ้วขบวน ได้แก่ นักแสดงที่แต่งหน้าสีแดงและหนวดเคราสีแดง มักรับบทขุนพลฉินหมิง (秦明) หรือขุนพลกวนเซิ่ง (關勝) นักแสดงที่แต่งหน้าสีดำและมีหนวดเคราดำจะรับบทขุนพลหลี่ขุย (李逵) ยังมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งชื่อว่า สือเชียน (時遷) ซึ่งเป็นนักแสดงที่เชิดงูด้วยท่วงท่าว่องไว สื่อสารระหว่างกองหน้ากับกองหลัง ประสานให้ทั้งขบวนเคลื่อนที่กันอย่างพร้อมเพรียง

 

  • บทบาทของเอ็งกอในชุมชนจีน

——โผวเล้ง (普寧 ผู่หนิง)[9] ถือเป็นถิ่นกำเนิดของการแสดงเอ็งกอ ชาวบ้านในแถบนี้นิยมชมชอบเอ็งกอเป็นอย่างยิ่ง มีคณะเอ็งกอประจำหมู่บ้านมากกว่าร้อยคณะ แต่ละคณะเข้าร่วมการแข่งขันประชันฝีมือกันอยู่เป็นนิจ คณะเอ็งกอที่ชื่อเสียงโด่งดัง เช่น คณะเอ็งกอหมู่บ้านโถ่วเกา (泥溝英歌隊) คณะเอ็งกอหมู่บ้านปู่มุ่ย (富美英歌隊) คณะเอ็งกอหมู่บ้านหน่ำซัว (南山英歌隊) ฯลฯ บางคณะไม่เพียงกวาดรางวัลจากงานประกวดการแสดงศิลปะพื้นบ้านมากมาย ยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของมณฑลกวางตุ้งเพื่อเข้าร่วมการแสดงสำคัญระดับประเทศในกรุงปักกิ่ง และเดินทางไปแสดงตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งล้วนแต่ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ชมอย่างล้นหลาม

——ด้วยคติความเชื่อที่ว่าเป็นการแสดงที่สามารถขับไล่ภูตผีปีศาจและวิญญาณร้ายได้ ริ้วขบวนเอ็งกอยังได้รับการยกย่องจากกลุ่มชนว่าเป็นดั่งการจุติของวีรบุรุษหรือสัญลักษณ์มงคลที่จะบันดาลให้หมู่บ้านสงบสุข ฉะนั้นเมื่อมีงานสำคัญ เช่น การลงเสาเอกของอาคารใหญ่ เปิดสะพานให้สัญจร รวมถึงจัดพิธีฉลองของโรงเรียน ก็มักเชิญคณะเอ็งกอมาแสดงเพื่อความเป็นสิริมงคล ชาวจีนในชนบทเมื่อได้ยินเสียงกลอง ฆ้องของคณะเอ็งกอดังขึ้นยามใด ก็พร้อมจะต้อนรับคณะและริ้วขบวนทันที

——โดยทั่วไปนักแสดงในคณะมักเป็นหนุ่มฉกรรจ์รูปร่างกำยำเปี่ยมด้วยกําลังวังชา หรือเด็กหนุ่มนิสัยใจคอกล้าหาญเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวบ้าน ซึ่งในชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้ต่างมีมิตรสหายมากหน้าหลายตาและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันหรือต่อผู้คนรอบข้างอยู่แล้ว หากสาวๆ ติดเนื้อต้องใจนักแสดงคนใดในคณะเอ็งกอ ก็อาจหมายปองนักแสดงคนนั้นไว้เป็นคู่ชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเต้นนำ “โถวฉุย (頭槌)” ผู้ที่แต่งใบหน้าและหนวดเคราสีแดง และ “เอ้อร์ฉุย (二槌)” ที่มีใบหน้าและหนวดเคราสีดำ มักเป็นตัวละครแสนรักที่สาวๆ อยากเลือกไปเป็นคู่ครอง นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าถ้าผู้ใดมีโอกาสได้เข้าร่วมแสดงในปีนั้น ชีวิตของผู้นั้นก็จะราบรื่นสมปรารถนา

 

  • เอ็งกอในเมืองไทย

——การแสดงเอ็งกอได้แพร่หลายไปยังพื้นที่ต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเข้าสู่เมืองไทยโดยชาวจีนโพ้นทะเลผู้มาจากแดนแต้จิ๋ว แล้วจัดตั้ง “คณะเอ็งกอ” ขึ้นในเวลาต่อมา ถือเป็นศิลปวัฒนธรรมชุมชนอันเกิดจากวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีน

——เอ็งกอเริ่มปรากฏในไทยเมื่อราวทศวรรษ 2480 ณ จังหวัดนครสวรรค์ จากคำบอกเล่าของคุณวิรัช กิตติทันตวงศ์ และคุณพนมกร ฉัตรโชติกมาก สองอดีตนักแสดงคณะเอ็งกอและศิษย์รุ่นสุดท้ายของนายคอซัว แซ่เตีย (張珂山) ชาวจีนโพ้นทะเลจากหมู่บ้านโถ่วเกา (泥溝) กล่าวว่า ผู้เป็นอาจารย์เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมเอ็งกอในเมืองไทย และเป็นผู้บุกเบิกคณะเอ็งกอขึ้นที่ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นคณะใหญ่ที่สำคัญและมีชื่อเสียง จากนั้นเมื่อได้รับความนิยมก็เกิดคณะเอ็งกอศาลเจ้าปู่-ย่าในจังหวัดอุดรธานีตามมา เอกลักษณ์ด้านการแสดงของคณะเอ็งกอศาลเจ้าปู่-ย่าคือการจับไม้พลองสั้น ประสานกับลีลาท่าทางขึงขังคล่องแคล่ว ร้องรับส่งด้วยเสียงอันดังกึกก้องน่าเกรงขาม เข้าจังหวะกับเสียงเคาะไม้และเสียงกลอง ส่วนริ้วขบวนก็ส่ายไปมาคล้ายงูเลื้อย จึงได้รับยกย่องเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประจำจังหวัดอุดรธานีด้านศิลปะการแสดง ประเภทนาฏศิลป์และการละครเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565

——อีกคณะหนึ่งที่มีชื่อเสียง คือคณะเอ็งกอแห่งอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นคนริเริ่ม ทว่าการแสดงเอ็งกอในขบวนแห่เทพเจ้า อาทิ งานเปิดพิธีล้างป่าช้า[10] ที่พนัสนิคมก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความนิยมขยายตัวจากวงชุมชนชาวจีนสู่ชุมชนชาวไทย โดยปรากฏในประเพณีงานบุญกลางบ้าน[11] อีกการแสดงหนึ่งที่ควบคู่กับการแสดงเอ็งกอเสมอ คือ “พะบู้” ซึ่งนักแสดงสวมบทบาทเป็นนักรบผู้ฝึกวิทยายุทธ์ แสดงการต่อสู้ด้วยอาวุธจีนโบราณ ไม่ว่ากระบวนแห่จะผ่านไปที่ใดก็มักสร้างความตื่นเต้นและความประทับใจให้ผู้ชม จึงมีการเรียกกันติดปากว่าการแสดง “เอ็งกอ-พะบู้”

  • ลาโรง

——ถึงแม้ปัจจุบันนี้ ศิลปะการแสดงพื้นบ้านต่างๆ ของจีน มีแนวโน้มเสื่อมความนิยมลง ทว่าเอ็งกอกลับแสดงบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตของชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในไทย เสมือนดอกไม้ที่ผลิบานอย่างงดงามในดินแดนอีกแห่งหนึ่ง ทั้งยังสะท้อนคุณค่าแห่งการร่วมมือและพึ่งพาอาศัยกันและกันของผู้คนในชุมชน การแสดงเอ็งกอจึงเป็นสื่อที่คอยเตือนให้ตระหนักถึงเอกลักษณ์ทางศิลปะการแสดงอันควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังสืบทอดต่อไป


[1] “สารานุกรมคติชนเตี่ยซัว” 《潮汕民俗大典》บันทึกเกี่ยวกับต้นกำเนิดของการแสดงเอ็งกอว่า เป็นการสืบสานศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรมจีนหลายแขนง หลักๆ ได้แก่

  • การรำ “หนัว” (儺舞) โดยสวมใส่หน้ากากขณะประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล
  • การร้องรำทำเพลงเพื่อเซ่นไหว้หรือเฉลิมฉลองที่ประกอบด้วยกลองใหญ่ในท้องถิ่นซานตง (山東大鼓子秧歌)
  • วรรณกรรมจีนเรื่อง “ซ้องกั๋ง”《水滸傳》

[2] เตี่ยซัว (潮汕เฉาซ่าน) มีชื่อมาจากนครแต้จิ๋ว (潮州) และนครซัวเถา (汕頭) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมแต้จิ๋วร่วมกัน ได้แก่ นครซัวเถา แต้จิ๋ว และกิ๊กเอี๊ย (揭陽) ในปัจจุบัน

[3]ซ้องกั๋ง เป็นวรรณคดีจีนคลาสสิกในยุคโบราณ ซึ่งซือไน่อัน (施耐庵 ค.ศ.1296–1372) รวบรวมตำนานหรือเรื่องเล่าต่างๆ ซึ่งแพร่หลายในหมู่อาณาประชาราษฎร์มาปรุงแต่งและเขียนเป็นนวนิยายขนาดยาว เนื้อเรื่องกล่าวถึงความขัดแย้งในสังคมศักดินาจีน เมื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็มีชื่อไทยว่า ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน

[4] ตัวอักษรคำว่า “ยาง” (秧) กับคำว่า “อิง” (英)  ในภาษาถิ่นของเตี่ยซัวนั้นออกเสียงคล้ายกัน

[5] เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชนเผ่าจิง (京族) ชาวเย่ว์ หรือ ชาวจิงเป็นชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในประเทศจีนซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะกลางหุบเขาในเขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงหรือมณฑลกว่างซีทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและปัจจุบันอพยพไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศเวียดนามโดยส่วนใหญ่

[6] จงหยวน ดินแดนอันเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญในความคิดของชาวจีนสมัยโบราณ มีที่ตั้งค่อนไปทางภาคเหนือของจีนในปัจจุบัน ได้แก่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเหอหนาน (ตอนกลางและตอนปลายลุ่มแม่น้ำฮวงโห) ภาคตะวันตกของมณฑลซานตง ภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ยและมณฑลซานซี คำนี้มีความหมายโดยปริยายว่า ถิ่นศูนย์กลางอารยธรรมของจีน

[7] ปัจจุบันคือเขตเตี่ยเอี๊ย (潮陽區) และเขตเตี่ยนั้ม (潮南區) นครซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง

[8] ตำนานเล่าว่า ขุนนางชื่อ หงซิ่น (洪信) พบยันต์ “ตำหนักขังปีศาจ” ติดไว้ในเก๋งจีนโบราณ ด้วยความสงสัยใคร่รู้ เขาจึงดึงยันต์ออก ทันใดนั้นก็เกิดควันพวยพุ่งกลายเป็นวิญญาณนักรบเหี้ยมหาญถึง 108 ดวงกระจัดกระจายไปเกิดเป็นคนตามที่ต่างๆ เชื่อกันว่าเหล่าผู้กล้าทั้ง 108 นั้นเดิมเป็นดวงดาวบนท้องฟ้าจุติลงมาโดยแบ่งเป็น 36 ขุนพลสวรรค์ กับ 72 ขุนพลพสุธา เมื่อพวกเขาได้มาพบกันที่เขาเหลียงซาน จึงสาบานเป็นพี่น้องกันตามเรื่องซ้องกั๋ง

[9] นครระดับอำเภอ (縣級市) ขึ้นกับการปกครองของนครกิ๊กเอี๊ย มณฑลกวางตุ้ง

[10] พิธีล้างป่าช้า เป็นพิธีทำบุญเพื่อร่วมกันส่งวิญญาณศพไร้ญาติให้ไปสู่สุคติของชาวไทยเชื้อสายจีน

[11] งานบุญกลางบ้าน เป็นประเพณีของชาวไทยภาคกลางเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่ผีบรรพบุรุษ มักจัดขึ้นในราวกลางเดือน 3 ถึงเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติไทย โดยเลือกวันจัดที่เหมาะสมและจัดภายนอกศาสนสถาน นิยมจัดในบริเวณลานกว้างของหมู่บ้าน และทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อยังความร่มเย็นแก่ชาวบ้าน หรือเพื่อสร้างเสริมกำลังใจ สร้างความสามัคคีของคนในชุมชน