เรียนรู้จากสวินจื่อ เรื่องโดย จันทร์กระจ่างฟ้า “ไม่ปีนขึ้นยอดผา มิอาจหยั่งรู้ความสูงของฟ้า ไม่ลงลึกใต้ธารา มิอาจหยั่งรู้ความหนาของแผ่นดิน[1]” — สวินจื่อ —–ยุคชุนชิวจั้นกั๋ว (春秋战国 770-221 ปีก่อนคริสตกาล) หลังราชสำนักโจวเสื่อมโทรม สังคมกำลังวุ่นวายกับสงครามชิงอำนาจระหว่างรัฐ ในเวลานั้นผู้คนต่างต้องการแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดให้สังคม ปัญญาชนทั้งหลายจึงพากันแสดงความคิดเห็นและเสนอทฤษฎีการแก้ปัญหาตามแนวคิดของตน เป็นเหตุให้ค่อยๆ ปรากฏเป็นสำนักปรัชญามากมายหลายแขนง อาทิ เหลาจื่อ ขงจื่อ เมิ่งจื่อ สวินจื่อ ม่อจื่อ หานเฟยจื่อ เป็นต้น นักคิดเหล่านี้ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือทำให้สังคมที่กำลังวุ่นวาย จริยธรรมเสื่อมโทรมนั้น ได้พบกับความสงบสุข —–สวินจื่อ (荀子) คือนักปรัชญาคนสำคัญท่านหนึ่งของสำนักหรูเจีย (儒家) หรือลัทธิขงจื่อ โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงสำนักหรูเจีย คนก็มักจะนึกถึงขงจื่อและเมิ่งจื่อกันเสียมากกว่า ทว่าสวินจื่อก็เป็นนักปรัชญาอีกท่านที่มีอิทธิพลต่อชาวจีน และมักได้รับการกล่าวถึงคู่กับเมิ่งจื่อในเชิงเปรียบเทียบ เนื่องจากทั้งสองท่านมีชีวิตอยู่ในยุคไล่เลี่ยกัน และจัดอยู่ในสำนักหรูเจียเช่นเดียวกัน แต่กลับมีความเห็นหลายอย่างที่ขัดแย้งกัน หากเปรียบสำนักหรูเจียเป็นต้นไม้ใหญ่ สวินจื่อและเมิ่งจื่อก็เปรียบได้ดังกิ่งก้านสาขาที่เติบโตออกไปคนละทิศทาง —–ในสมัยชุนชิวจั้นกั๋ว คำถามที่ว่า ‘ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเกิดมาดีงามหรือเลวทราม’ เป็นหัวข้อหนึ่งที่ถกเถียงกันในวงกว้าง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการหาคำตอบว่ามนุษย์ควรพัฒนาไปในทิศทางใด ความเห็นเรื่องนี้แตกออกเป็นสองทางโดยเมิ่งจื่อเห็นว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมจิตใจที่ดีงาม แต่สวินจื่อกลับบอกว่ามนุษย์เราเกิดมาพร้อมจิตใจที่เลวทราม —–สวินจื่อกล่าวว่ามนุษย์ประกอบด้วยธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (性) และการกระทำของตน (伪) สวินจื่อเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์เลวทราม ส่วนการกระทำที่ดีงามทั้งหลายของมนุษย์นั้นเกิดจากนิสัยที่ผ่านการอบรมบ่มเพาะมาแล้ว และการอบรมบ่มเพาะดังกล่าวก็คือการศึกษาจารีตและจริยธรรมตามคำสอนของขงจื่อ รวมทั้งการใช้กฎเกณฑ์ข้อบังคับควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ไว้ด้วย —–สวินจื่อพิสูจน์ทฤษฎีข้างต้นด้วยการอธิบายว่า มนุษย์มีใจรักผลประโยชน์มาแต่กำเนิด จึงแก่งแย่งชิงดีหาประโยชน์ส่วนตน ทำให้การยินยอมถ่อมตนหายไป มนุษย์มีใจริษยามาแต่กำเนิด จึงเกิดการฆ่าฟันและให้ร้ายคนอื่น ทำให้ความซื่อสัตย์หายไป มนุษย์มีความละโมบและหลงใหลในความงามมาแต่กำเนิด จึงเกิดความวุ่นวายและความหมกมุ่นในกาม ทำให้จารีต จริยธรรม และกฎเกณฑ์หายไป ถ้าปล่อยมนุษย์ให้ไหลไปตามสันดานแต่กำเนิดดังที่กล่าวมาข้างต้น สังคมก็จะวุ่นวาย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการชักจูงและนำทางให้มนุษย์ได้ขัดเกลาตนเพื่อเป็นคนดี ด้วยการอบรมสั่งสอนจริยธรรม จารีต และควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ สังคมจึงจะเดินไปสู่ความสงบสุข —–สวินจื่อยังกล่าวแย้งทฤษฎีของเมิ่งจื่ออีกว่า หากเชื่อว่ามนุษย์สันดานดีมาแต่กำเนิด ก็ให้ลองนึกถึงสังคมที่ไม่มีกษัตริย์ ไม่มีกฎหมาย จารีต และจริยธรรมดูว่าสังคมจะอยู่ได้หรือไม่ จะวุ่นวายหรือไม่ เพราะหากมนุษย์สันดานดีจริง สังคมควรสงบสุขได้โดยไม่จำเป็นต้องมีกษัตริย์คอยควบคุมดูแล และมนุษย์ก็ควรเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องอบรมสั่งสอนจริยธรรม จารีต หรืออยู่ใต้กฎเกณฑ์ใดๆ —–แต่แม้สวินจื่อจะเชื่อว่าสันดานมนุษย์เลวร้าย ในขณะเดียวกันเขาก็มีศรัทธาอย่างแรงกล้าว่ามนุษย์ทุกคนย่อมเปลี่ยนเป็นคนดีได้ หากผ่านการอบรม ได้รับการศึกษาและเพียรพยายาม โดยใช้จารีต จริยธรรม กฎเกณฑ์เข้ามาควบคุมและขัดเกลาสันดานเสียของมนุษย์ —–ในคัมภีร์สวินจื่อ บทที่ว่าด้วยการศึกษาถูกจัดให้เป็นบทแรก แสดงให้เห็นว่าสวินจื่อให้ความสำคัญกับการศึกษามาเป็นอันดับหนึ่ง เขาสนับสนุนการศึกษาเพราะเชื่อว่าสันดานมนุษย์ดัดได้ ดังท่อนไม้ที่ตรงยาว หากรัดด้วยเชือก แล้วใช้ไฟลน ไม้ที่ตรงก็จะค่อยๆ โค้งงอจนกลายเป็นกงล้อที่นำไปใช้งานได้ และไม่กลับไปยืดตรงเช่นแต่ก่อนอีก สวินจื่อสอนว่า… —–สวินจื่อกล่าวว่า “สีน้ำเงิน ได้มาจากต้นคราม แต่เข้มยิ่งกว่าคราม น้ำแข็ง สร้างขึ้นจากน้ำ แต่เย็นเยือกยิ่งกว่าน้ำ” —–การศึกษาที่ดีนั้นไม่ใช่เพียงแค่การรับความรู้มาจากอาจารย์ แต่ยังต้องคิดต่อยอดให้ผลิดอกออกผลและมีคุณภาพมากยิ่งกว่าเดิม สร้างความรู้ใหม่ขึ้นจากความรู้เก่า เหตุนี้เองการศึกษาจึงจะไม่หยุดนิ่ง ดังสีน้ำเงินที่เข้มยิ่งกว่าคราม และน้ำแข็งที่เย็นยิ่งกว่าน้ำ ศิษย์ก็ย่อมเก่งกว่าครู —–สวินจื่อกล่าวว่า “ข้ามักเขย่งเท้าแลทอดสายตามอง แต่ทิวทัศน์ที่เห็นก็ยังไม่กว้างไกลเท่าคราขึ้นที่สูง เมื่อโบกมือบนที่สูง แขนไม่ได้ยาวขึ้น แต่ผู้คนที่อยู่ไกลกลับมองเห็น เมื่อเอ่ยวาจาให้ลอยไปตามลม เสียงไม่ได้ดังขึ้น แต่คนฟังกลับได้ยินชัดเจน ผู้รู้จักหยิบยืมกำลังของรถม้า มิได้ใช้ขาของตน แต่เดินทางได้เป็นพันลี้ ผู้รู้จักใช้ไม้พายเรือ มิได้ว่ายน้ำเป็น แต่กลับข้ามแม่น้ำได้ ‘วิญญูชน’ นั้นเมื่อแรกเกิดไม่ต่างจากคนทั่วไป ทว่ารู้จักใช้สิ่งรอบตัวให้เกิดประโยชน์” —–วิญญูชนเป็นคำเรียกคนที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมจริยธรรมเพียบพร้อมตามคำสอนของสำนักหรูเจีย เป็นเหมือนจุดหมายที่ผู้ศึกษาคำสอนสำนักหรูเจียต้องพัฒนาตนเองให้เป็นเช่นนั้น ในที่นี้สวินจื่อชี้แนะแนวทางให้มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบข้าง เรียนรู้ที่จะใช้สติปัญญาและทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ เพราะคนฉลาดมิได้ฉลาดมาแต่เกิด เพียงศึกษาและประยุกต์ใช้ความรู้นั้นให้เกิดประโยชน์ได้ยิ่งๆ ขึ้นไป —–สวินจื่อกล่าวว่า “เมื่อสะสมธุลีดินจนเป็นภูผา ณ ที่นั้นสายลมและหยาดฝนก็จะบังเกิด เมื่อสะสมหยดน้ำจนเป็นมหาสมุทร ณ ที่นั้นมังกรก็จะกำเนิด” หมายความว่าหากสั่งสมความรู้แม้ทีละน้อย ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เมื่อมนุษย์ขัดเกลาสันดานจนเป็นคนดี มีคุณธรรม มีความรู้แล้วก็สามารถทำอะไรได้อีกมาก —–เห็นได้ชัดว่าสวินจื่อสนับสนุนพรแสวงมากกว่าพรสวรรค์ ดังที่กล่าวไว้ว่า “หากไม่สั่งสมก้าวเล็กๆ ก็เดินทางไม่ถึงพันลี้ หากไม่สั่งสมแม่น้ำสายเล็ก ก็ไม่มีวันเกิดเป็นทะเลใหญ่ ม้าดีกระโดดเพียงครั้ง ไม่อาจไกลถึงสิบก้าว แต่หากม้าชั้นเลวควบติดต่อกันสิบวัน ก็บรรลุจุดหมายได้เพราะไม่หยุดยั้ง หากลงมือสลักแล้วหยุด แม้ไม้เก่ากรังก็สลักเสลาให้งามไม่ได้ แต่หากลงมีดโดยไม่หยุดหย่อน แม้ทองเนื้อแข็งก็ตัดแต่งให้งามได้” สวินจื่อยกตัวอย่างหลากหลายให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้น ว่ามนุษย์จะเป็นคนดีมีคุณธรรมได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาที่ดีเลิศ คนไม่เก่งก็พัฒนาตนเองได้หากเพียรพยายามมากพอ ในขณะเดียวกันคนที่เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและปัจจัยเอื้ออำนวยทั้งหลาย หากมัวแต่ชะล่าใจ ไม่รู้จักเพียรพยายาม ก็ไม่อาจสู้คนเขลาที่ไม่หยุดพัฒนาตนเอง —–สวินจื่อกล่าวว่า “ไส้เดือนไร้กรงเล็บอันแหลมคม ไร้กระดูกอันแข็งแกร่ง แต่บนพื้นได้กินเศษดิน ใต้ดินก็ยังชอนไชลงไปดื่มน้ำบาดาลได้ เหตุที่ทำได้เพราะมันมีใจตั้งมั่นที่จุดหมายเพียงหนึ่งเดียว ในขณะเดียวกันปูซึ่งมีแปดขากับอีกสองก้าม แต่หากไม่มีรังของปลาไหลก็ไม่มีแม้แต่ที่ซุกหัวนอนของตัวเอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง” —–นอกจากความเพียรพยายามแล้ว ยังต้องมีความมุ่งมั่นควบคู่กันไปด้วย สวินจื่อกล่าวไว้ว่าหากมีใจจดจ่ออยู่เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แม้ไม่ได้เพียบพร้อมด้วยปัจจัยเกื้อหนุนหรือความสามารถที่เป็นเลิศ ก็ประสบความสำเร็จได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่เพียบพร้อมด้วยปัจจัยอำนวยความสะดวกทั้งหลาย หากไร้ความตั้งใจจริง สิ่งที่ตนมีเพียบพร้อมนั้นก็ไร้ความหมาย —–สวินจื่อกล่าวว่า “ไม่ปีนขึ้นยอดผา มิอาจหยั่งรู้ความสูงของฟ้า ไม่ลงลึกถึงใต้ธารา มิอาจหยั่งรู้ความหนาของแผ่นดิน” —–สวินจื่อสอนให้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง เพราะโลกเรายังมีอะไรอีกมากที่ยังไม่มีคำตอบ มิใช่เพียงแค่รู้ว่าฟ้าสูง และนั่งจินตนาการว่าฟ้าสูงแค่ไหน แต่ต้องปีนขึ้นเขาไปให้เห็นกับตาว่าความสูงที่ว่านั้นสูงเพียงใด และหุบเหวที่ว่าลึกนั้นลึกเพียงใด เช่นเดียวกับการศึกษา มิใช่เพียงรู้แค่ผิวเผิน แต่ต้องรู้ให้ลึก รู้ให้จริง —–สวินจื่อกล่าวไว้ว่า “ยามกำเนิดเปล่งเสียงร้องอย่างเดียวกัน เติบใหญ่จึงมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน การอบรมบ่มเพาะทำให้เป็นเช่นนั้น” —–สวินจื่อเชื่อว่าเมื่อแรกเกิดมนุษย์ทุกคนไม่มีอะไรต่างกัน แต่เมื่อโตขึ้นจะถูกหล่อหลอมด้วยสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมตามภูมิลำเนาของตน ผู้ที่ได้รับการศึกษา อบรมจริยธรรม และอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ก็จะเติบโตเป็นวิญญูชนได้ ส่วนมนุษย์ที่ไม่ได้รับการอบรมบ่มเพาะก็จะยังคงสันดานเดิมที่เลวทรามไว้ เป็นเหตุให้สังคมไม่สงบสุข —–นักศึกษาที่ดีในสายตาของสวินจื่อไม่เพียงต้องขยันหมั่นเพียร แต่ “ศึกษาสิ่งใดแล้วต้องศึกษาให้ครบถ้วน เช่นนั้นจึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักศึกษาที่แท้จริง” อีกทั้งต้องพัฒนาตนเองให้ไร้ที่ติ เพราะสวินจื่อกล่าวว่า “ยิงร้อยพลาดหนึ่ง ไม่พอให้เรียกว่ายิงเก่ง” —–สวินจื่อมองว่าแบบอย่างที่ดีของผู้ศึกษาปรัชญาขงจื่อนั้นต้องเพียบพร้อมด้วยปัจจัยทั้งภายในและภายนอก เพราะถึงมีความรู้ความสามารถ แต่ไร้โอกาส ความรู้นั้นก็เท่ากับศูนย์ และเมื่อมีโอกาสให้ได้แสดงความสามารถ ผลงานก็ต้องสมบูรณ์แบบ —–สำนักหรูเจียสอนว่า ‘นาม’ เป็นตัวกำหนดหน้าที่ และสวินจื่อก็เห็นว่าทุกคนควรทำหน้าที่ให้สุดความสามารถ มิฉะนั้นก็ไม่ควรค่ากับนามที่ได้รับ ดังที่ได้กล่าวว่า “หากมีรถดีม้าดี แต่ขับไปไม่ได้ไกล วันหนึ่งไม่ถึงพันลี้ ก็ไม่นับว่าเป็นสารถี หากมีคันธนูดี แต่ยิงไม่ไกลซ้ำยังไม่เข้าเป้า ไม่เรียกว่าเป็นพลธนู หากมีดินแดนอาณาเขตกว้างไกล แต่ปกครองไม่ได้ แผ่นดินมีแต่ความวุ่นวาย ผู้ปกครองท่านนั้นก็ไม่ใช่ผู้ศึกษาปรัชญาหรูเจียที่ดี” —–ในอุดมคติของสวินจื่อ ผู้ศึกษาปรัชญาขงจื่อต้องมีคุณสมบัติคือ คำพูดต้องมีหลักการ การกระทำต้องมีจริยธรรม ทำงานไม่ล้มเหลว แก้ปัญหาได้เหมาะสม และปรับตัวได้ตามยุคสมัย แม้เจอความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ยังอยู่ในวิถีที่ชอบธรรมและคงความสมบูรณ์แบบไว้ได้ —–ปัจจุบัน สวินจื่อก็ยังเป็นนักปรัชญาคนสำคัญที่ชาวจีนและผู้เรียนภาษาจีนทั่วโลกต้องศึกษา เนื่องด้วยคำสอนของท่านให้แง่คิดทั้งด้านการศึกษา การใช้ชีวิต และการเมืองการปกครอง รวมถึงเป็นแรงกระตุ้นให้มนุษย์ไม่ดูถูกตนเอง ไม่หยุดพัฒนาตนเอง และสร้างศรัทธาว่าคนเราจะดีขึ้นได้ด้วยความเพียร —–นอกจากนี้ยังมีลายสือศิลป์อักษรจีนมากมายที่เลือกใช้คำสอนของสวินจื่อมาเขียน เป็นได้ทั้งของขวัญ ของประดับตกแต่งบ้านเรือน ไว้เป็นคติเตือนใจในห้องเรียนหรือห้องทำงาน ลายสือศิลป์เหล่านี้เป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่าที่สะท้อนเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมและความรุ่งเรืองทางปรัชญาความคิดในสมัยโบราณของจีน —–ไม่ว่าอย่างไรการศึกษาก็ยังเป็นแกนหลักของการสืบทอดอารยธรรมของมนุษยชาติ แม้ผ่านเวลามากว่าสองพันปี ปรัชญาคำสอนของสวินจื่อก็ยังคงได้รับการสืบทอดและนำมาประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์ปัจจุบันได้อย่างไม่ล้าสมัย —–สวินจื่อ อยู่ในสมัยชุนชิวจั้นกั๋ว เป็นนักปรัชญาสำนักหรูเจียถัดจากยุคของเมิ่งจื่อ นักวิชาการเชื่อว่ามีชีวิตอยู่ระหว่าง 313-238 ปีก่อนคริสตกาล สวินจื่อเป็นคนรัฐจ้าว (赵) แต่อพยพไปใช้ชีวิตในวัยเยาว์ที่รัฐเยียน (燕) จนกระทั่งอายุ 50 ปี จึงได้ไปรับราชการที่รัฐฉี (齐) ต่อมาถูกขุนนางใส่ความจนต้องลาออกไปรับราชการที่รัฐฉู่ (楚) และยังเคยเดินทางไปรัฐฉิน (秦) สุดท้ายจึงถึงแก่อสัญกรรมที่รัฐฉู่ ทั้งชีวิตเขาได้สัมผัสโลกกว้างและพบเห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก จึงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เข้าใจปัญหาของสังคมมนุษย์ และกลายเป็นนักปรัชญาคนสำคัญท่านหนึ่งของยุคก่อนราชวงศ์ฉิน —–คัมภีร์สวินจื่อที่ได้รับการสืบทอดกันมามี 32 บท ปรัชญาของสวินจื่อกล่าวถึงทฤษฎีความรู้ ปรัชญาการใช้ชีวิต การศึกษา เศรษฐกิจ รวมทั้งการเมืองและการปกครอง สวินจื่อสนับสนุนให้มีมนุษยธรรม อบรมจริยธรรมจารีต และขัดเกลาจิตใจด้วยดนตรีเช่นเดียวกับขงจื่อ เพราะสวินจื่อนับถือขงจื่อเป็นปรมาจารย์ และยกย่องให้ขงจื่อเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนควรยึดถือเป็นแบบอย่าง แต่สวินจื่อสนับสนุนแนวคิดที่ว่าธรรมชาติของมนุษย์เลวร้าย แนวคิดนี้กลับไปเกื้อหนุนกับความคิดในสำนักนิตินิยม (法家) ที่คิดว่ามนุษย์ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ เหตุนี้เองสวินจื่อจึงมีลูกศิษย์ที่กลายเป็นนักปรัชญาคนสำคัญในสำนักนิตินิยม ได้แก่ หลี่ซือ (李斯) และหานเฟยจื่อ (韩非子) [1]《荀子·劝学》:“故不登高山,不知天之高也;不临深溪,不知地之厚也。”