—–จาย

ฝูโจว เมืองโบราณที่มีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และเต็มไปด้วยแหล่งโบราณสถานมากมาย ในบทความนี้ทีมงานจะพาไปพบกับ โบราณสถานอันทรงคุณค่าแห่งหนึ่งทางประวัติศาสต์ในเมืองฝูโจว …

ศาลเจ้าไท่ซาน อดีตพระตำหนักฮ่องเต้น้อย

—–ศาลเจ้าไท่ซาน (泰山宫) ตั้งอยู่ในเมืองฝูโจว มลฑลฮกเกี้ยน ครอบคลุมพื้นที่ 1,484 ตารางเมตร ประกอบด้วยตำหนัก 3 หลังคือ ตำหนักไท่ซาน (泰山宫) ตำหนักจ๋งกว่าน (总管殿) และตำหนักเทียนโฮ่ว (天后宫) มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋 ค.ศ. 1127-1279) นับเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งในมณฑลฮกเกี้ยน

  ศาลเจ้าไท่ซาน

—–ย้อนไปช่วงปลายราชวงศ์ซ่งใต้ บ้านเมืองอ่อนแอจากการรุกรานของกองทัพมองโกลที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ในปี ค.ศ. 1276 ทหารมองโกลเข้ายึดเมืองหลินอัน[1] (临安) และควบคุมตัวฮ่องเต้เจ้าเสี่ยน (赵显 ค.ศ. 1271-1323) พร้อมทั้งไทเฮาและเหล่าขุนนางผู้ไม่ปรารถนาจะสวามิภักดิ์กับมองโกลกว่าหมื่นนาย เมื่อเห็นว่าสถานการณ์ขับขัน เหล่าผู้ภักดีต่อราชวงศ์ซ่งใต้ภายใต้การนำของขุนนาง 3 ท่าน ได้แก่ ลู่ซิ่วฟู (陆秀夫 ค.ศ. 1237-1279) เฉินอี๋จง (陈宜中ค.ศ. 1218-1283) และจางซื่อเจี๋ย (张世杰 ไม่แน่ชัด-ค.ศ. 1279) จึงนำเสด็จองค์ชายเจ้าซื่อ (赵昰 ค.ศ. 1269-1278) องค์ชายเจ้าปิ่ง (赵昺ค.ศ. 1272-1279) พร้อมพระสนมหยาง (杨淑妃) พระมารดาขององค์ชายเจ้าซื่อ แยกย้ายกันหลบหนีออกจากเมืองหลินอัน ล่องเรือไปยังมณฑลฮกเกี้ยน องค์ชายเจ้าซื่อและพระสนมหยางเสด็จไปถึงหมู่บ้านหลินผู่ (林浦) ในเมืองฝูโจวและทรงเลือกที่นี่เป็นที่ตั้งสำหรับสร้างที่ประทับแห่งใหม่ขึ้นโดยตั้งชื่อว่า ‘หอผิงซาน’ (平山阁) ส่วนองค์ชายเจ้าปิ่งแยกไปประทับที่เมืองฉวนโจว (泉州) ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ต่อมาเหล่าขุนนางในเมืองฝูโจวลงความเห็นกันว่าบ้านเมืองไม่ควรจะขาดผู้นำ จึงกราบบังคมทูลเชิญองค์ชายเจ้าซื่อที่ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษาขึ้นครองราชย์ที่เมืองฝูโจว ถือเป็นกษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์ซ่งใต้

   องค์ชายเจ้าซื่อ

     องค์ชายเจ้าปิ่ง

—–ทว่าทหารมองโกลยังคงรุกคืบจนถึงเมืองฝูโจว ฮ่องเต้เจ้าซื่อพร้อมทั้งพระราชมารดาจึงต้องเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับบนเรือพระที่นั่งเพื่อสะดวกในการหลบหนี เรือที่ประทับรอนแรมผ่านเมืองต่างๆ เช่น กว่างโจว (广州) เวินโจว (温州) ตลอดจนบริเวณเกาะฮ่องกง (香港)  ในปี ค.ศ. 1278 เรือที่ประทับปะทะกับพายุใหญ่บริเวณเกาะเหนาโจว (碙洲) เป็นเหตุให้ฮ่องเต้องค์น้อยทรงพลัดตกจากเรือ แม้ว่าทหารจะสามารถช่วยขึ้นจากทะเลได้อย่างปลอดภัย แต่การรอนแรมอยู่กลางทะเลเป็นเวลานาน ประกอบกับต้องคอยหลบหนีการไล่ล่า พระพลานามัยที่อ่อนแอและสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ทำให้พระอาการประชวรทรุดหนักลง หลังจากนั้นเพียง 23 วัน ฮ่องเต้เจ้าซื่อก็สวรรคตลงในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1278 รวมพระชนมพรรษาได้เพียง 11 พรรษา (ปัจจุบันเชื่อกันว่าหลุมพระศพตั้งอยู่ที่เกาะลันตา (大屿山) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะฮ่องกง) หลังจากนั้นองค์ชายเจ้าปิ่ง พระอนุชาต่างมารดาที่ขณะนั้นมีพระชนมายุ 8 พรรษาจึงขึ้นสืบทอดราชสมบัติต่อ และเสด็จแปรพระราชฐานจากเมืองฉวนโจวมาประทับที่ผาหยาซาน (崖山) มณฑลกวางตุ้ง (广东) ทหารสองฝ่ายต่อสู้กันหลายครั้ง แต่ท้ายที่สุดทหารซ่งก็ไม่สามารถต้านทานได้ ถูกทหารมองโกลปิดล้อมจนหมดหนทางหนี  วันที่19 มีนาคม ค.ศ. 1279   ลู่ซิ่วฟูไม่อาจทนเห็นศัตรูย่ำยีศักดิ์ศรีของรางวงศ์ซ่งใต้ได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจเชิญเสด็จฮ่องเต้เจ้าปิ่งขึ้นประทับบนหลังและกระโดดลงทะเลจบชีวิตพร้อมกัน ณ ผาหยาซาน ถือเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์ซ่งใต้

—–แม้ราชวงศ์หยวน (元ค.ศ. 1271-1368) ของชาวมองโกลจะยึดอำนาจได้ แต่ไม่อาจครองหัวใจของประชาชนผู้ภักดีต่อราชวงศ์ซ่งใต้  เมื่อครั้งทหารมองโกลบุกโจมตีถึงหมู่บ้านหลินผู่ ชาวบ้านยังคงพยายามรักษาพระตำหนักแห่งนี้ไว้ ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณของฮ่องเต้เจ้าซื่อที่เคยช่วยเหลือชาวบ้านในยามอดอยาก จึงได้ร่วมกันโกหกว่าสถานที่นี้เป็นเพียงศาลเจ้าธรรมดาแห่งหนึ่ง ทว่าทหารมองโกลไม่เชื่อในคำลวงจึงเข้าทำลายพระตำหนักเสียเรียบ ต่อมาเมื่อทหารมองโกลยกทัพกลับไป ชาวบ้านจึงคิดสร้างพระตำหนักขึ้นใหม่ ครั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ทางราชสำนักหยวนสงสัย จึงสร้างขึ้นใหม่โดยจำลองจาก ‘ศาลเจ้าไท่ซาน’[2] แต่ภายในประดิษฐานรูปปั้นที่เป็นตัวแทนของฮ่องเต้เจ้าซื่อ ฮ่องเต้เจ้าปิ่ง และสามขุนนางผู้ภักดี

 ภายในศาลเจ้าไท่ซาน

—–นับแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อระลึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้งฮ่องเต้น้อยทรงประทับอยู่ ณ หมู่บ้านหลินผู่ ทุกปีชาวบ้านจะจัดกิจกรรมแห่รูปปั้นฮ่องเต้น้อยและสามขุนนางขึ้น ซึ่งประเพณีเรียกนี้ว่า ‘ประเพณีต้อนรับเขาไท่ซาน’ อันเป็นประเพณีที่ยังคงถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน


[1]เมืองหลินอัน (临安) เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งใต้ ปัจจุบันคือเมืองหังโจว (杭州)

[2] ศาลเจ้าไท่ซาน (泰山宫) ตั้งอยู่ในมณฑลเหอเป่ย (河北) เป็นเขตเชื่อมต่อกันระหว่างเขาไท่หังซาน (太行山) เขาเหิงซาน (恒山) และเขาเยี่ยนซาน (燕山) ถือเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ ชาวจีนเชื่อว่า หากได้เดินทางมาสักการะเทพเจ้าที่ศาลแห่งนี้ เทพเจ้าจะช่วยคุ้มครองตนเองและครอบครัวให้พบเจอแต่สิ่งที่ดี

—-

เรียบเรียงโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา