เช็งเม้ง: เทศกาลแสดงความกตัญญูต่อบรรพชน

เรื่องโดย ถิรวัสส์ อัครเดชเรืองศรี

 

——ย่างเข้าเทศกาลเช็งเม้งเมื่อใด ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนก็จะจัดเตรียมของเซ่นไหว้บรรพบุรุษหรือเดินทางไปเยี่ยมสุสานบรรพชนตามสถานที่ต่างๆ เพราะเช็งเม้งถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวจะได้นัดหมายรวมตัวกันเพื่อประกอบกิจกรรมรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ

——ประเทศไทยนับว่าเป็นแหล่งพำนักอันดับหนึ่งของชาวจีนแต้จิ๋ว[1] โพ้นทะเล ซึ่งชาวจีนเหล่านี้ไม่เพียงแค่ลงหลักปักฐาน แต่ยังได้นำวัฒนธรรมเดิมของตนมาปฏิบัติจนแพร่หลายในวงกว้าง ทั้งนี้ วัฒนธรรมแต้จิ๋วยังถือเป็นฟอสซิลทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนในแผ่นดินใหญ่ที่รอดพ้นจากการปฏิวัติธรรม เนื่องจากบรรพบุรุษของชาวแต้จิ๋วอพยพมาจากที่ราบจงหยวน (中原)[2] ซึ่งเป็นสถานที่อันเป็นต้นกำเนิดสำคัญของวัฒนธรรมจีนทุกแขนง

——คนจีนถือความกตัญญูเป็นคุณธรรมอันดับแรก (百善孝為先) ตามค่านิยมของลัทธิขงจื๊อ (儒家 ลัทธิหรู) จึงทำให้คนจีนดูแลปรนนิบัติบุพการีเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ยามที่ท่านจากไปแล้วก็จัดหาหลุมฝังศพให้สมตามฐานะ รวมถึงเซ่นไหว้ในทุกการฉลองฤดูกาลและเทศกาล ซึ่งตามธรรมเนียมจีนแต้จิ๋ว ในหนึ่งรอบปีจะมีการฉลองมหาอุตุปักษ์ทั้งสี่[3] อันเป็นตัวแทนแต่ละฤดูกาลโดยนับตามปฏิทินสุริยคติ และเทศกาลทั้งหมดแปดครั้ง[4] โดยเกือบทั้งหมดนับตามปฏิทินจันทรคติ เรียกรวมกันว่า สี่ซี้โป๊ยโจ่ยะ (四時八節 4 ฤดูกาล 8 เทศกาล) อันเป็นสัญลักษณ์การแบ่งเดือน และฤดูกาลของแต่ละปี โดยมีการเซ่นไหว้บุพการี และบรรพชนในทุกเทศกาล ดุจท่านยังคงดำรงชีพ ไม่ได้จากลูกหลานไปไหน (祭如在) เพื่อรำลึกพระคุณที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ โดยยังมีอีกประเพณีหนึ่งของชาวจีนทุกท้องถิ่นที่ร่วมกันโดยยึดคุณธรรมดังกล่าวเป็นที่ตั้ง คือการเยี่ยมสุสานบรรพชน (上墳) ประจำทุกปี

 

  • การเยี่ยมสุสานบรรพชน

——เดิมทีธรรมเนียมการฝังร่างบุพการีของชาวแต้จิ๋วนั้น จะกระทำด้วยกันสองรอบคือ ครั้งแรกจะบรรจุร่างในโลงและฝังในสถานที่อันเหมาะสมไม่ไกลจากบ้าน มีลักษณะเรียบง่ายเป็นกองดินพูน ให้พอรู้ว่าเป็นหลุมศพ ครั้งที่สองคือ เมื่อระยะเวลาผ่านไปสามปี ลูกหลานจะขุดร่างบุพการีขึ้นมาทำความสะอาด แล้วใส่โถเครื่องเคลือบขนาดใหญ่ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ฮวยกิมเป๋า (灰金缶) หรือกิมกุกอั่ง (金骨罋) ตามภาษาพื้นถิ่นแต้จิ๋ว โดยจัดท่าคล้ายกับทารกที่อยู่ในครรภ์ หากกระดูกที่ขุดขึ้นมามีลักษณะเป็นสีขาวหรือเหลืองสวย แสดงว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะสมแล้ว ก็จะทำการฝังใหม่ในสถานที่เดิมอีกครั้ง หากกระดูกมีลักษณะเป็นสีดำ จะทำการเฟ้นหาทำเลใหม่ในป่าเขาที่เหมาะสมตามหลักฮวงจุ้ย เพื่อนำไปฝังใหม่อีกครั้ง การฝังใหม่ทั้งสองกรณีจะสร้างเป็นสุสานถาวร หรือที่คนไทยคุ้นหูว่า “ฮวงซุ้ย” ซึ่งธรรมเนียมนี้มีเค้ามาจากวัฒนธรรมของชาวไป่เยว์ (百越) ชนกลุ่มน้อยทางภาคใต้ของจีนโบราณ โดยชาวแต้จิ๋วก็มีเชื้อสายจากชนเผ่านี้เช่นกัน

——กิจกรรมหลักในการเยี่ยมเยือนสุสานคือ การปัดกวาดซ่อมแซมสุสาน (掃墓) ทาสีบนป้ายชื่อบรรพบุรุษ (石碑 เจี่ยะปี / สือเปย) ให้อักษรบนป้ายเด่นชัดเช่นเดิม โปรยกระดาษห้าสี (五色紙) หรือกระดาษสีเหลืองล้วนตามธรรมเนียมของแต่ละถิ่น หากใช้กระดาษสีแดงล้วนโปรย จะเป็นการสื่อว่าเจ้าของสุสานนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเรียกสุสานนั้นว่า แซกี (生基 เซิงจี)[5] หากพบสุสานที่ครึ่งหนึ่งของเนินดิน โปรยกระดาษหลากสีและสีแดงล้วน แสดงว่าคู่สามีภรรยาเจ้าของสุสาน มีท่านใดท่านหนึ่งได้เสียชีวิตและนำมาบรรจุไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีการนำกระดาษบางส่วนมาทับบนเจี่ยะปี เรียกว่า การก๊วยจั้ว (掛紙 กว้าจื่อ) ซึ่งในอดีตอาจจะกระทำมากกว่าหนึ่งครั้งในรอบปี คือ

    • ในช่วงปักษ์เช็งเม้ง ฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า ก๊วยชุงจั้ว (掛春紙 กว้าชุนจื่อ)
    • ในช่วงเทศกาลฉงหยาง[6] (重陽節) ฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า ก๊วยชิวจั้ว (掛秋紙 กว้าชิวจื่อ)
    • ช่วงเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย หรือปักษ์เหมายัน (冬至) ฤดูหนาว เรียกว่า ก๊วยตังจั้ว (掛冬紙 กว้าตงจื่อ)

——ในบางถิ่นมีการเซ่นไหว้ด้วยหอยแครง เนื่องจากคำว่าหอยแครงในภาษาจีนแต้จิ๋ว เรียกว่า ฮำ (蚶 ฮาน) พ้องเสียงกับคำว่า ฮำ (函 หาน) ซึ่งแปลว่า “รวม” อีกทั้งลักษณะของหอยแครงที่เนื้อถูกห่อหุ้มในเปลือก เป็นสัญลักษณ์ของความกลมเกลียวสามัคคีและการรวมตัวของลูกหลาน นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งความหมายคือเนื้อและกระดูกได้พบเจอกัน (骨肉相見) หมายถึงลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ได้พบบรรพชนที่จากไปแล้ว แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดในวงศ์เครือญาติของชาวจีน อนึ่งเมื่อเซ่นไหว้เสร็จแล้ว ลูกหลานจะนำเปลือกหอยแครงมาโปรยบนเนินสุสาน เพื่อให้บรรพชนนำไปใช้เป็นเงินในอีกภพภูมิ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดมีจุดประสงค์คือ เป็นการทำสัญลักษณ์ต่อสุสานประจำปีว่ายังมีลูกหลานมารักษาดูแล ทั้งยังมีกุศโลบายที่สำคัญคือ ให้ลูกหลานทุกคนได้มาพบปะกัน เนื่องด้วยการแยกกันมาเซ่นไหว้ถือเป็นการอกตัญญูประการหนึ่งต่อบรรพชนตามคติของชาวจีน

 

  • วันเช็งเม้ง กับ วันเหมายัน

——เช็งเม้ง (清明) ตรงกับวันที่ 4 หรือ 5 เมษายนของทุกปี เป็นปักษ์ลำดับที่ห้า ใน 24 อุตุปักษ์ (廿四節氣) อยู่หลังจากปักษ์แรกคือ เริ่มวสันต์ หรือหลิบชุง (立春 ลี่ชุน) ประมาณ 60 วัน และปักษ์ที่สี่ คือชุงฮุง (春分 ชุนเฟิน) อันเป็นปักษ์สำคัญที่สุดของฤดูใบไม้ผลิ 15 วัน โดยวันนี้โลกจะโคจรรอบดวงอาทิตย์มาถึงจุด 15 องศา มีลักษณะสภาพดินฟ้าอากาศคือ ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศสดชื่น ทิวทัศน์งดงาม (氣“清”景“明”) ตามชื่อของปักษ์

——เมื่อย้อนกลับไปปักษ์หลิบชุง หิมะฤดูหนาวที่ปกคลุมทั่วแผ่นดินละลายลง ทำให้ต้นหญ้าเริ่มงอกงาม สายฝนโปรยปรายชะล้างเนินดินของสุสานทำให้ยุบตัวลง เมื่อระยะเวลาผ่านไปสองเดือนจนถึงปักษ์เช็งเม้ง ทำให้ต้นหญ้าปกคลุมสุสานจนดูทรุดโทรมรกร้าง จึงเป็นสาเหตุให้ลูกหลานรวมตัวกันไปปัดกวาดสุสาน ถอนหญ้าและเติมดินให้งดงาม ถือเป็นการได้ไปเยี่ยมบ้านหลังสุดท้ายอันบรรจุสังขารของบรรพชนที่หลับไหลอย่างสงบตามคุณธรรมด้านความกตัญญู

——ในทางตรงกันข้าม เดิมชาวแต้จิ๋วนิยมยึดวันเหมายัน หรือรู้จักกันในนามเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย ซึ่งเป็นมหาอุตุปักษ์ประจำฤดูหนาว เป็นวันไปกราบไหว้สุสานบรรพชน เนื่องจากในช่วงปักษ์เช็งเม้ง สภาพภูมิอากาศของแต้จิ๋วซึ่งอยู่ในทางใต้ของจีน มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ซึ่งเรียกว่า ฝนขนวัว (牛毛細雨) ดังที่ปรากฏกวีนิพนธ์บทหนึ่งของตู้มู่ (杜牧 ค.ศ. 803-852) กวีเอกสมัยปลายราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) ซึ่งแปลเป็นสำนวนไทยโดยอาจารย์ยง อิงคเวทย์ ความว่า

“เช็งเม้งยามมงคลสายฝนพรำ คนเดินทางระกำช้ำหมองศรี

เดินถามหาร้านเมรัยอยู่ไหนมี เด็กเลี้ยงวัวช่วยชี้ทาง(ร้าน)บ้านซิ่งงาม

(清明時節雨紛紛,路上行人欲斷魂。借問酒家何處有,牧童遙指杏花村。)

——บทกวีนี้บรรยายให้เห็นสภาพอากาศของปักษ์เช็งเม้งอย่างเห็นได้ชัด คือ ฝนตกทั้งวันจนอากาศชื้น หนาวเย็นเยือกจับจิต ไม่สามารถออกไปเดินนอกเคหสถานได้ กระทั่งร้านค้าต่างๆ อาทิ ร้านจำหน่ายสุรายังปิดทำการ ยิ่งถูกฝนในช่วงนี้แล้วจะต้องดื่มสุราแก้พิษหนาว ประกอบกับในยุคสังคมเกษตรกรรม ช่วงปักษ์นี้เป็นฤดูกาลที่เหมาะกับการเพาะปลูกทำเกษตรกรรม ทำให้ไม่มีเวลาไปเยี่ยมเยือนกราบไหว้สุสานบรรพบุรุษ ชาวแต้จิ๋วจึงเลือกเทศกาลไหว้ขนมบัวลอยที่มีสภาพอากาศดีกว่า ประกอบกับเป็นช่วงว่างเว้นจากภารกิจหน้าที่สำคัญ เพื่อไปเซ่นไหว้สุสาน ซึ่งปรากฎให้เห็นได้ชัดในหนังสือเทศกาลและการเซ่นไหว้ของชาวแต้จิ๋ว《潮州時節與崇拜》แต่ในทางตรงกันข้าม สภาพอากาศทางเหนือของจีนในปักษ์เช็งเม้ง กลับดีกว่าช่วงเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย ซึ่งหิมะตกหนักจนไม่สามารถออกจากเคหสถานได้เช่นกัน คนจีนเหนือจึงเลือกใช้ปักษ์เช็งเม้งเซ่นไหว้สุสานแทน

——จุดเปลี่ยนความนิยมมาเลือกใช้วันเช็งเม้งเป็นเทศกาลเซ่นไหว้สุสานบรรพชนคือ ในยุคสาธารณรัฐ (中華民國 ค.ศ.1912-1949) ซึ่งปกครองประเทศโดยรัฐบาลก๊กมินตั๋ง (國民黨) ได้กำหนดให้วันเช็งเม้งเป็น “วันเซ่นสรวงบรรพชนแห่งชาติ” พร้อมทั้งมีรัฐพิธีบูชาหวงตี้ (黃帝) ปฐมบรรพชนของชาวจีน และประกาศเป็นวันหยุดราชการ ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางไปเซ่นไหว้ โดยไม่ต้องหยุดงาน ความนิยมในการเลือกใช้เทศกาลไหว้ขนมบัวลอยจึงถูกลดความสำคัญลง

——ในตามธรรมเนียม ชาวแต้จิ๋วจะมีการเซ่นไหว้ป้ายสถิตวิญญาณบรรพชน หรือสิ่งจู่ไป๊ (神主牌 เสินจู่ผาย) ประจำฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า ชุงจี่ (春祭 ชุนจี้) ในปักษ์วสันตวิษุวัติ หรือชุงฮุง (春分 ชุนเฟิน) ซึ่งตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นหนึ่งในการพลีบูชาบรรพชนประจำฤดูทั้งสี่ ณ ศาลบรรพชน หรือสื่อตึ้ง (祠堂 ฉือถัง) ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบได้ในสมาคมตระกูลแซ่ต่างๆ และมีการเซ่นไหว้ ณ เคหสถาน หรือศาลบรรพชนอีกครั้งในปักษ์เช็งเม้ง ในฐานะเป็นหนึ่งในแปดเทศกาลต่างหาก และจะไม่นับการเซ่นไหว้ทั้งสองครั้งว่าเป็นสิ่งเดียวกับการเยี่ยมสุสานในปักษ์เช็งเม้ง ซึ่งจะมีการเซ่นไหว้สุสานอีกครั้งด้วยเครื่องเซ่นไหว้เพียงเล็กน้อย ไม่เยอะเท่ากับการเซ่นไหว้สองครั้งที่กล่าวข้างต้น และสิ่งที่แตกต่างคือ การไหว้ในปักษ์เช็งเม้งในอดีตจะกระทำในเพียงวันที่ 4 หรือ 5 เมษายนตามปฏิทินของปีนั้นๆ หรืออนุญาตให้ไปได้ก่อนไม่เกินสามวันเท่านั้น

——เมื่อบริบทในสังคมชาวไทยเชื้อสายจีน ณ ปัจจุบันเปลี่ยนไป เพื่อประหยัดระยะเวลา และหลีกเลี่ยงการจราจรอันติดขัด จึงมีการปรับเปลี่ยน ขยายระยะเวลาในการไปเยี่ยมสุสานบรรพชน เป็นเริ่มตั้งวันที่20 หรือ 21 มีนาคม (ปักษ์ชุงฮุง) ถึงวันที่ 4 หรือ 5 เมษายน (ปักษ์เช็งเม้ง) และมีการเซ่นไหว้เพียงครั้งเดียว ณ สุสาน จึงสามารถกล่าวได้ว่า การไปเยี่ยมสุสานในครั้งนี้รวบการฉลองและการเซ่นไหว้ทั้งสี่ครั้ง ได้แก่ ปักษ์ชุงฮุง ปักษ์เช็งเม้ง เทศกาลทานอาหารเย็น[7] (寒食節) เทศกาลซ่างสื้อ[8] (上巳節) หรือเทศกาลเช็งเม้งโบราณ (古清明) ไว้ในครั้งเดียว จึงทำให้ผู้คนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าทั้งประเพณีทั้งหมดข้างต้นเป็นสิ่งเดียวกัน

——ทั้งนี้ ตามประเพณีแต้จิ๋วเดิมในหลายถิ่น การเยี่ยมและเซ่นไหว้สุสานในช่วงบุพการีล่วงลับ 3 ปีแรก หรือ 25 เดือนแรกตามคำอธิบาย[9] ในตำราจารีตพิธีกรรม《禮記》จะกระทำในช่วงปักษ์เช็งเม้ง โดยอนุญาตให้ลูกสาวที่แต่งงานแล้ว บุตรเขย และหลานนอก[10] (外孫) กลับมาเซ่นไหว้ได้ แต่ไม่นิยมให้ครอบครัวของลูกสาวที่ออกเรือนแล้วนำกล้วยหอม ซาลาเปา และขนมถ้วยฟู หรือเรียกว่า ฮวกก้วย (發粿) มาเซ่นไหว้ ตามคติพื้นบ้านที่ว่า จะนำพาสิ่งมงคลออกไปจนไม่เหลือในตระกูล และหลังจากช่วงเวลาดังกล่าวผ่านพ้นไปจะนิยมไปเยี่ยมสุสานในเทศกาลไหว้บัวลอยแทน แต่บางแห่งการเยี่ยมสุสานบรรพชนจะกระทำตั้งแต่สามปีหลังจากบุพการีละสังขารไป

——ในกรณีไร้บุตรชายสืบสกุล ก็จะมีการแต่งเขยเข้าตระกูล (入贅) โดยเมื่อมีทายาทแล้วจะใช้สกุลทางมารดาเพื่อให้มีผู้สืบสกุล และมีผู้เซ่นไหว้บรรพชนฝั่งภรรยา ซึ่งในอดีตกาลถือเป็นการกระทำที่เสียเกียรติของบุรุษเพศมาก แต่ในประเทศไทย ครอบครัวส่วนใหญ่กลับกลายเป็นลูกสาวเป็นผู้จัดการเซ่นไหว้เกือบทั้งหมดแทนลูกชาย ซึ่งเหล่านี้คือข้อแตกต่างจากวัฒนธรรมเดิม

——ในด้านสภาพดินฟ้าอากาศและสภาพแวดล้อม และบริบทในสังคมไทยมีความแตกต่างจากจีนราวฟ้ากับดิน ในช่วงปักษ์เช็งเม้งมีอากาศร้อนจัด ทำให้อาหารอันเป็นเครื่องเซ่นไหว้เน่าเสียง่าย ทั้งสุสานแบบจีนในประเทศไทย มักอยู่ในรูปแบบการจัดสรรที่ดินโดยสมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรต่างๆ พร้อมมีการรับจ้างบริการตัดหญ้า ทำความสะอาดให้ประจำปี แตกต่างจากประเทศจีนซึ่งลูกหลานจะต้องทำการถางหญ้า หาบน้ำขึ้นเขาไปทำความสะอาดกันเอง เทศกาลไหว้ขนมบัวลอยจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการไปเยี่ยมสุสาน ซึ่งเหมาะกับสภาพภูมิอากาศของไทยมากกว่า

——สรุปการเยี่ยมสุสานบรรพชน มีจุดประสงค์คือการรวมตัวได้พบปะญาติพี่น้อง และแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบุพการี และบรรพชน อันเป็นคุณธรรมอันดับหนึ่งของชนชาติจีน ทั้งนี้ การเซ่นไหว้บรรพชนเปรียบเสมือนท่านยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ลูกหลานมีหิริโอตัปปะคือ การเกรงกลัวหรือละอายต่อบาป ไม่กล้ากระทำอกุศล เพราะว่าหากทำชั่วแล้ว เมื่อสิ้นชีวิตจะไม่มีหน้าไปพบบรรพบุรุษในสัมปรายภพ


[1] ถิ่นแต้จิ๋ว (潮州府) เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งขึ้นกับการปกครองของมณฑลกวางตุ้ง (廣東省) โดยตั้งแต่อดีต มีชาวจีนจากถิ่นนี้อพยพจากมาตุภูมิเพื่อหาเลี้ยงชีพตนในต่างแดนเป็นจำนวนมาก

[2] จงหยวน ดินแดนอันเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญในความคิดของชาวจีนสมัยโบราณ มีที่ตั้งค่อนไปทางภาคเหนือของจีนในปัจจุบัน ได้แก่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเหอหนาน (ตอนกลางและตอนปลายลุ่มแม่น้ำฮวงโห) ภาคตะวันตกของมณฑลซานตง ภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ยและมณฑลซานซี คำนี้มีความหมายโดยปริยายว่า ถิ่นศูนย์กลางอารยธรรมของจีน

[3] ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิคือ วสันตวิษุวัต (春分 ชุงฮุง / ชุนเฟิน) ฤดูร้อนคือ ครีษมายัน (夏至 แห่จี่ / เซี่ยจื้อ) ฤดูใบไม้ร่วงคือ ศารทวิษุวัต (秋分 ชิวฮุง / ชิวเฟิน) ฤดูหนาวคือ เหมายัน (冬至 ตังจี่ / ตงจื้อ)

[4] ได้แก่ วันตรุษจีน (春節) วันหง่วงเซียว (元宵節) วันเช็งเม้ง (清明節) วันไหว้ขนมบะจ่าง (端午節) วันสารทจีน (中元節) วันไหว้พระจันทร์ (中秋節) วันไหว้ขนมบัวลอย (冬至/冬節) และวันสิ้นปี (除夕)

[5] เป็นการสร้างสุสานล่วงหน้าเพื่อครั้งเสียชีวิตจะได้นำร่างมาบรรจุ ณ สถานที่แห่งนี้ ตามความเชื่อที่ว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาของเจ้าของ

[6] ตรงกับวันที่ 9 เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติจีนของทุกปี

[7] วันสุกดิบของปักษ์เช็งเม้ง มีกิจกรรมสำคัญคือ การรับประทานอาหารเย็นชืดที่ไม่ผ่านการปรุงด้วยไฟ ซึ่งมีที่มาจากตำนานในคัมภีร์จวงจื่อ《莊子》ที่กล่าวว่า เจี้ยจื่อทุย (介子推) ถึงแก่กรรมในวันนี้ ด้วยไฟป่าที่ก่อโดยจิ้นเหวินกง (晉文公 671-628 ก่อนค.ศ.) ผู้ที่ได้เคยรับเนื้อแขนของเจี้ยจื่อทุยเมื่อครั้งยังไม่ได้ขึ้นครองตำแหน่งเจ้าแคว้น โดยงดการจุดไฟเพื่อรำลึกถึงการจากไป ภายหลังมีผลสรุปอีกหนึ่งที่มา จากการค้นคว้าของมานุษยวิทยาว่า เทศกาลนี้มีที่มาจากความเชื่อจากยุคบรรพกาลที่ว่า ไฟเก่าเป็นสิ่งอัปมงคล ซึ่งในอดีตการจุดไฟแต่ละครั้งถือเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงต้องมีการก่อกองไฟกลางของชุมชนอยู่ตลอดเวลา นานวันเข้าจึงเป็นไฟเก่า สมควรแก่การดับลง และเลือกเฟ้นวันมงคลเพื่อจุดไฟใหม่ประจำปี ซึ่งตำนานข้างต้นเป็นการหาตำนานมาอ้างอิงที่มาของเทศกาล อันเป็นกุศโลบายสอนคนรุ่นหลังให้รู้จักรำลึกถึงบุญคุณของผู้มีพระคุณ ซึ่งทำให้ปรากฏเป็นเทศกาลนี้ครั้งแรกในยุคราชวงศ์ฮั่น (漢 202-25 ก่อนค.ศ.) อันสถานการณ์บ้านเมืองที่ทำให้ลัทธิหรูเป็นศาสนาประจำชาติโดยปริยาย เทศกาลนี้จึงพัฒนามาเป็นเทศกาลเซ่นไหว้บรรพชน ต่อมาถูกลดความสำคัญไป เนื่องด้วยไม่สามารถเผากระดาษเงิน-ทองให้ผู้วายชนม์ได้ในวันนี้ ผู้คนจึงได้รวบเข้าเป็นวันเดียวกับกิจกรรมในปักษ์เช็งเม้ง

[8] ในอดีตคือวันมะเส็ง (巳日) แรกของเดือนสามตามชื่อเทศกาล ต่อมาเนื่องด้วยคนทั่วไปเข้าใจระบบปฏิทินจันทรคติง่ายกว่า ราชสำนักแห่งแคว้นวุยก๊ก (魏國 ค.ศ. 220-266) ในยุคสามก๊ก (三國時期 ค.ศ. 220-280) จึงเปลี่ยนเป็นวันขึ้นสามค่ำ เดือนสาม (三月初三日) ซึ่งในวรรณกรรมยุคชุนชิว (春秋時代ประมาณ 770-453 ก่อนค.ศ.) บันทึกถึงหนึ่งในกิจกรรมที่เห็นได้เด่นชัดของเทศกาลนี้ คือ การเรียกขวัญตนเองให้ตื่นจากการจำศีลในฤดูหนาว และอัญเชิญวิญญาณบรรพชนที่หลีกลี้ย้ายไปยังถิ่นไม่หนาวจัดและมีอาหารเพียงพอ ให้กลับมาอยู่กับลูกหลาน แล้วรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งสามารถเห็นได้จากชาวไทยเชื้อสายจีนบางกลุ่มที่ยังมีการเลือกใช้เทศกาลนี้ไปเยี่ยมเยือนสุสาน

[9] มาจากตอนหนึ่งในบรรพถามความเรื่องไว้ทุกข์สามปี《問三年》ความว่า “三年之喪,二十五月而畢”

[10] ลูกของลูกสาว ซึ่งไม่ได้ใช้นามสกุล หรือแซ่ตามตระกูลฝั่งแม่