ศาลขงจื่อแห่งนครหนานจิง
โดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา
—–ขงจื่อ (孔子 551 – 479 ก่อน ค.ศ.) หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในนาม “ขงจื๊อ” เป็นจอมปราชญ์บรมครูแห่งแผ่นดินจีนที่ผู้คนจำนวนมากเคารพยกย่อง และยึดถือแนวทางคำสอนมาเป็นหลักดำเนินชีวิต โดยหลักแนวคิดของขงจื่อเป็นของสำนักหรู (儒家) ที่มุ่งเน้นสอนสั่งเรื่องการมีคุณธรรมและจริยธรรม ตระหนักในหน้าที่ที่แต่ละคนพึงปฏิบัติ
—–แนวคิดของขงจื่อหยั่งรากลึกในสังคมจีนรวมถึงสังคมเอเชียตะวันออก ดังนั้นจึงมีการสร้างศาลขงจื่อเป็นจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศจีน ซึ่งศาลขงจื่อที่ได้รับขนานนามว่าเป็น สี่ศาลขงจื่อแห่งสำคัญของประเทศจีน (中国四大文庙) ได้แก่
-
- ศาลขงจื่อเมืองหนานจิง (南京夫子庙)
- ศาลขงจื่อเมืองปักกิ่ง (北京孔庙)
- ศาลขงจื่อเมืองชีว์ฟู่ (曲阜孔庙)
- ศาลขงจื่อแห่งเมืองจี๋หลิน (吉林文庙)
—–ศาลขงจื่อแห่งนครหนานจิง มีชื่อภาษาจีนว่า “หนานจิงฟูจื่อเมี่ยว” แปลว่า “ศาลฟูจื่อเมืองหนานจิง” เหตุที่ใช้ชื่อว่าศาลฟูจื่อ (夫子) เพราะคำว่า “ฟูจื่อ” เป็นคำที่บรรดาสานุศิษย์ใช้เรียกขานขงจื่อด้วยความเคารพนับถือ ศาลแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเขตฉินหวย (秦淮区) นครหนานจิง ถือเป็นหนึ่งสถานที่สำคัญด้านวัฒนธรรมของเมืองหนานจิง
—–สิ่งก่อสร้างหลักของศาลฟูจื่อ ประกอบด้วยศาลขงจื่อ (孔庙) สำนักเรียน (学宫) และสนามสอบ เข้ารับราชการ (贡院) ในสมัยที่จีนยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พื้นที่ริมแม่น้ำฉินหวยฝั่งใต้เป็นสำนักศึกษาไท่เสวีย (太学) ที่ถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (东晋 ค.ศ. 317 – 420) เพราะราชสำนักต้องการให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะผู้มีความสามารถในการบริหารประเทศ จนกระทั่งราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋ค.ศ. 960 – 1127) สำนักศึกษาถูกย้ายไปยังริมแม่น้ำฉินหวยฝั่งเหนือ และสร้างศาลขงจื่อขึ้นบริเวณหน้าสำนักศึกษา โดยหวังให้เหล่าบัณฑิตปฏิบัติตามแนวทางคำสอนของบรมครูขงจื่อ
—–ในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) และชิง (清 ค.ศ. 1636 – 1912) ศาลขงจื่อแห่งนี้ได้ถูกราชวิทยาลัย (国子监) ใช้เป็นสถานที่สอบรับราชการตามระบบการสอบจอหงวน (考状元) บริเวณริมแม่น้ำฉินหวยจึงได้กลายเป็นแหล่งรวมเหล่าปัญญาชนที่มาจากทั่วสารทิศ บรรยากาศโดยรอบคึกคัก เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก
—–ทว่านครหนานจิงต้องตกเป็นสมรภูมิรบอยู่หลายครั้ง จึงเป็นเหตุให้ศาลแห่งนี้ต้องวนเวียนอยู่ในวัฏจักรของการถูกทำลายและการบูรณะ ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ศาลขงจื่อนี้ถูกทำลายอยู่ในยุคสาธารณรัฐ (中华民国 ค.ศ. 1912 – 1949) ช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่น (抗日战争 ค.ศ. 1931 – 1945) จนกระทั่ง ค.ศ. 1984 ถึงได้รับการบูรณะจนสมบูรณ์ และได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งใน 40 สถานที่ท่องเที่ยวชั้นยอดของจีน (全国旅游胜地四十佳) ในค.ศ. 1991 อีกทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในเขตประวัติศาสตร์วัฒนธรรมแห่งมณฑลเจียงซู (江苏省历史文化街区) ในค.ศ. 2016 อีกด้วย
—–สถาปัตยกรรมของศาลขงจื่อรวมถึงบริเวณโดยรอบถูกตกแต่งให้มีกลิ่นอายยุคราชวงศ์หมิงและชิง โบราณสถานโบราณวัตถุต่างได้รับการบูรณะอย่างเหมาะสม ด้านถนนที่ติดกับแม่น้ำฉินหวยก็ถูกพัฒนาให้เป็นย่านการค้าที่ผสมผสานความโบราณกับความทันสมัยได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมีการฟื้นฟูตลาดฝั่งตะวันตกและตะวันออกตามโครงสร้างโบราณ พร้อมให้บริการอาหารเครื่องดื่มย้อนยุคแก่ผู้ที่มาเที่ยวชมไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด ซึ่งอาหารบางประเภทมีประวัติความเป็นมายาวนานครอบคลุมสมัย 6 ราชวงศ์ที่เคยปกครองหนานจิง รวมถึงราชวงศ์หมิงและชิงอีกด้วย สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองหนานจิงได้เป็นอย่างดี
—–ทั้งนี้ ทุกวันที่ 1 – 18 เดือนหนึ่งตามปฏิทินจีน จะมีการจัดกิจกรรมเทศกาลโคมไฟศาลฟูจื่อ (夫子庙灯会) หรือเทศกาลโคมไฟจินหลิง (金陵灯会) ซึ่งเป็นเทศกาลประจำเมืองหนานจิงที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ใต้ (南朝 ราว ค.ศ. 420 – 589) จนได้รับการกล่าวขานว่า โคมไฟฉินหวยอันดับหนึ่งแห่งแผ่นดิน (秦淮灯彩甲天下) ส่วนเรือประดับโคมที่ล่องตามธาราฉินหวยอย่างงดงามก็เป็นที่เลื่องชื่อเช่นเดียวกัน กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่สร้างความสวยงามให้กับทิวทัศน์ยามค่ำคืนของหนานจิง สร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ที่มาท่องเที่ยว ยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านอันดีงามของคนรุ่นก่อนไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นยอดสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งรวมอาหารเลิศรส แดนสวรรค์แห่งการช้อปปิ้งของหนานจิงเลยก็ว่าได้