“หลิ่มไต่คิม”
กับบทบาททางวัฒนธรรมถิ่นแต้จิ๋ว
เรื่องโดย ถิรวัสส์ อัครเดชเรืองศรี
หมายเหตุ: ชื่อของบุคคลและสถานที่ในบทความนี้จะถอดเสียงโดยใช้ภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นหลัก
——มีนิทานพื้นบ้านหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชะตาชีวิตของหลิ่มไต่คิม (林大欽 หลินต้าชิน ค.ศ. 1511~1545) จอหงวนฝ่ายบุ๋นท่านเดียวในประวัติศาสตร์แต้จิ๋ว (潮州) และนิทานเหล่านี้ก็เป็นที่มาของสำนวนแต้จิ๋วบางสำนวน รวมถึงประเพณีต่างๆ ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
-
สำนวน “จาสีเกี้ย” และ “เซี้ยกุงฉุ่ย”
——คำว่า จาสีเกี้ย (早死仔)[1] แปลว่า “เจ้าเด็กอายุสั้น” ซึ่งเป็นคำด่า และคำเรียกที่ผู้ใหญ่ใช้กับเด็กด้วยความเอ็นดู ส่วน เซี้ยกุงฉุ่ย (聖君嘴) แปลว่า “ปากวาจาสิทธิ์” สองสำนวนนี้ต่างก็มีต้นตอจากหลิ่มไต่คิม
——ในสมัยนั้น ทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการสอบหน้าพระที่นั่ง ฮ่องเต้จะมีรับสั่งให้จัดกระบวนแห่สำหรับผู้ที่สอบได้จอหงวนไปรอบเมืองหลวงเป็นเวลาสามวัน หลิ่มไต่คิมก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งได้รับการปฏิบัติตามธรรมเนียมดังกล่าว ครั้นขบวนแห่ถึงที่ประทับ ฮองเฮาซึ่งกำลังทรงยืนอยู่บนหอสูง ได้ทอดพระเนตรรูปกายของหลิ่มไต่คิมก็บังเกิดความเอ็นดู เมื่อกระบวนแห่จวนผ่านไป ฮองเฮาก็ทรงร้องเรียกชื่อ เพื่อให้หลิ่มไต่คิมเหลียวหลังมาให้พระองค์ทรงชม แต่หลิ่มไต่คิมแม้ได้ยิน ก็มิกล้าเหลียวหลัง เพราะเกรงต้องอาญาเนื่องจากบังอาจมองอัครมเหสี จึงใช้วิธีหันหมวกกลับหลังประดุจได้ถวายบังคมแล้ว เมื่อฮองเฮาทรงเห็นเช่นนั้นก็เข้าใจภาษากายของหลิ่มไต่คิม และตรัสว่า “เจ้าเด็กอายุสั้นช่างปราดเปรื่องเสียจริง” ภายหลัง หลิ่มไต่คิมได้จบชีวิตลง เพราะความโศกเศร้าเสียใจจากการสิ้นอายุขัยของมารดา ผู้คนจึงกล่าวขานเรื่องพระดำรัสของฮองเฮาในครั้งนั้นว่าเป็น “ปากวาจาสิทธิ์”
-
พิธีชุกฮวยฮึ้ง
——ประเพณีอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมแต้จิ๋วคือ เมื่อบุตรหลานอายุย่าง 15 ปีจะทำพิธี “ชุกฮวยฮึ้ง” (出花園)[2] ซึ่งมีการกัดหัวไก่และสวมรองเท้าเกี๊ยะสีแดงรวมอยู่ด้วย กล่าวกันว่าประเพณีเหล่านี้มีที่มาจากหลิ่มไต่คิม ตำนานเล่าว่า ครั้งหลิ่มไต่คิมยังเล็ก ครอบครัวมีฐานะยากจน แต่บิดามารดาปรารถนาให้หลิ่มไต่คิมได้รับการศึกษา จึงหยิบยืมเงินจากคนรู้จักเพื่อให้บุตรของตนมีโอกาสเล่าเรียน
——ตามขนบประเพณี นักเรียนต้องสวมรองเท้าสีแดงเข้าศึกษา เพราะรองเท้าสีแดงถือเป็นสัญลักษณ์แทนผู้มีการศึกษา และการใช้สีแดงก็เพื่อมิให้ซ้ำกับรองเท้าสีดำของขุนนาง ทั้งยังแฝงความหมายเชิงอวยพรกลายๆ ว่า ผู้เรียนจะได้เป็นขุนนางในภายภาคหน้า แต่บิดามารดาของหลิ่มไต่คิมขัดสนเงินทอง จึงซื้อรองเท้าเกี๊ยะไม้ราคาถูกแล้วนำมาทาสีแดงให้หลิ่มไต่คิมสวม
——วันหนึ่ง ขณะที่หลิ่มไต่คิมกลับจากโรงเรียน ก็ได้พบผู้เฒ่าท่านหนึ่งอุ้มไก่ตัวไว้หนึ่งตัว ตรงขาไก่ผูกกระดาษสีแดงซึ่งเขียนกลอนคู่ไว้วรรคหนึ่ง ความว่า หงอนบนหัวไก่ตัวผู้ (雄雞頭上髻) ผู้เฒ่าท่านนี้ชักชวนผู้สัญจรโดยเสนอว่า หากผู้ที่สัญจรคนใดสามารถต่อกลอนวรรคนี้ให้สมบูรณ์ ก็จะได้ไก่ตัวนี้เป็นรางวัล แต่หากทำไม่สำเร็จก็จะต้องให้กระดาษเขียนกลอนคู่หนึ่งชุดเป็นการทดแทน หลิ่มไต่คิมเห็นดังนั้นก็หยุดครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วต่อกลอนตอบผู้เฒ่าว่า เคราใต้คางแพะตัวเมีย (牝羊頷下須) ซึ่งถูกแบบแผนตามฉันทลักษณ์การเขียนกลอนคู่ ผู้เฒ่าจึงมอบไก่ให้
——เมื่อกลับถึงบ้าน บิดาของหลิ่มไต่คิมได้นำไก่ตัวนั้นมาประกอบอาหารเย็น แล้วยกส่วนหัวไก่ให้หลิ่มไต่คิมเป็นรางวัล เป็นการอวยพรให้บุตรของตนสอบได้ตำแหน่งจอหงวน และหลิ่มไต่คิมก็สอบได้จอหงวนตามคำอวยพรของบิดาในเวลาต่อมา
——ตำนานนี้จึงกลายเป็นที่มาของธรรมเนียมการสวมรองเท้าเกี๊ยะสีแดง และการกัดหัวไก่ในพิธีชุกฮวยฮึ้ง อันเป็นศุภนิมิต เพื่ออวยพรบุตรหลานของตนให้มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี และสติปัญญาเฉียบแหลมราวกับหลิ่มไต่คิม
-
กลอนคู่มงคลประจำเทศกาลตรุษจีน
——กลอนคู่ หรือ ตุ้ยเหลียน (對聯) เป็นร้อยกรองที่ดำรงอยู่คู่สังคมจีนมานับพันปี เน้นการแต่งให้สอดคล้องตามฉันทลักษณ์ และความหมายในกลอนคู่ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน เช่น ใช้อวยพรงานขึ้นบ้านใหม่ งานวันเกิด เรียกว่า เฮ่อเหลียน (賀聯) ใช้แสดงความไว้อาลัยผู้วายชนม์ในงานศพ เรียกว่า หว่านเหลียน (輓聯) หรือใช้ติดข้างประตู เพื่อร่วมฉลองและเป็นสิริมงคลในเทศกาลตรุษจีน เรียกว่า ชุนเหลียน (春聯) กลอนคู่หนึ่งซึ่งผู้คนนิยมนำมาติดในเทศกาลนี้ คือ “ธรรมชาติเพิ่มปีเดือนคนเพิ่มอายุขัย วสันต์เต็มดินฟ้าบุญวาสนาเต็มบ้าน” (天增歲月人增壽;春滿乾坤福滿門。) ที่มาของกลอนมงคลคู่ดังกล่าว มีตำนานเล่าไว้ 3 ทางดังนี้
——ตำนานแรก เล่าว่า ซึงหมิกแจ (孫默齋 ซุนโม่ไจ ค.ศ. 1471–1541) ผู้นำชาวจังหวัดแต้จิ๋วในขณะนั้น มีลูกสาว 3 คน ซึงซู่ฮั้ว (孫素華 ซุนซู่หัว) ลูกสาวคนโตแต่งงานกับ เอ็งบ่วงตั๊ก (翁萬達 เวิงว่านต๋า ค.ศ. 1498–1552) ซึงหง่วยฮั้ว (孫月華 ซุนเย่ว์หัว) ลูกสาวคนรองแต่งงานกับตั่งอิ๊กซ้ง (陳一鬆 เฉินอีซง ค.ศ. 1520–1582) และซึงอั๋วฮั้ว (孫婉華 ซุนหว่านหัว) ลูกสาวคนเล็กแต่งงานกับหลิ่มไต่คิม ลูกเขยสามคนเป็นมิตรสหายที่เคยเรียนด้วยกันมา ก่อนแต่งงานนั้น ลูกสาวสองคนแรกได้หมั้นหมายกับว่าที่ลูกเขยทั้งสองแล้ว แต่ซึงหมิกแจยังกังวลใจ จึงตั้งปริศนาทดสอบสติปัญญา ว่าที่ลูกเขยทั้งสองเลยไม่เป็นอันเรียนหนังสือ วันๆ หมกมุ่นอยู่กับการไขปริศนาให้กระจ่าง เมื่อหลิ่มไต่คิมรู้เรื่องนี้ จึงคิดอ่านช่วยเหลือศิษย์พี่ทั้งสอง ประจวบกับใกล้วันคล้ายวันเกิดของซึงหมิกแจ ทั้งสองจึงได้รับเทียบเชิญร่วมงาน ซึ่งมีข้อความว่า “กินเพียงเนื้อหัววัว ยืมมีดล้มหมูมาทำอาหาร ผู้ส่งสารยังมามิถึง มีคำพูดเขียนส่งมา” (食盡牛頭肉,借刀殺豬烹,傳書人未到,有言寄丹青。) เมื่อทั้งสองเห็นข้อความเคลือบคลุมนี้ก็เข้าใจว่าเทียบเชิญมิได้ระบุเวลาจัดงานไว้ จึงตัดสินใจไม่ไปร่วมงาน แต่หลิ่มไต่คิมกลับถอดรหัสได้ทันใด คือ
- วัว ในรูปอักษรจีนคือ 牛 เมื่อตัดหนึ่งขีดด้านบนออก ส่วนที่เหลือจะเป็นอักษร 午 ซึ่งเป็นคำบอกเวลา หมายถึง “กลางวัน”
- หมู (豬) เมื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของปีกุน อักษรจีนคือ 亥 พอเติมอักษรมีด (刂) ไว้ด้านขวา จะเป็นอักษร 刻 ซึ่งเป็นคำบอกเวลา หมายถึง “ระยะเวลา” ส่วนคำประสม 午刻 มีความหมายว่า “เที่ยงวัน”
- ส่ง ในรูปอักษรจีนคือ 傳 เมื่อตัดส่วนประกอบด้านซ้าย (亻) ออก ส่วนที่เหลือจะเป็นอักษร 專 ซึ่งหมายถึง “เฉพาะเจาะจง”
- คำพูด ในรูปอักษรจีนคือ 言 เมื่อเติมอักษร 青[3] ไว้ด้านขวา จะได้อักษร 請 ซึ่งหมายถึง “เชิญ”
——ดังนั้นจึงอ่านได้ความว่า “เรียนเชิญเวลาเที่ยงวันโดยเฉพาะ” (午刻專請) หลิ่มไต่คิมแจ้งความหมายที่แฝงอยู่นี้แก่ศิษย์พี่ แต่ทั้งสองกลับไม่เชื่อ หลิ่มไต่คิมเลยไปร่วมงานแทนพร้อมกับประพันธ์กลอนมงคลคู่ “ธรรมชาติเพิ่มปีเดือนคนเพิ่มอายุขัย วสันต์เต็มดินฟ้าบุญวาสนาเต็มบ้าน” เพื่ออวยพรให้ซึงหมิกแจมีอายุมั่นขวัญยืน ซึงหมิกแจรู้สึกปลื้มปีติจึงเชิญหลิ่มไต่คิมเข้าร่วมงานในฐานะแขกพิเศษ เมื่อหลิ่มไต่คิมสอบได้จอหงวน กลอนมงคลคู่นี้เลยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
——อย่างไรก็ตาม ในสาแหรกเครือญาติตระกูลซึง แห่งหมู่บ้านไซลิ้ม《潮州西林孫氏族譜》กลับบันทึกไว้ว่า ซึงอู่เข่ง (孫有慶 ซุนโหย่วชิ่ง) หรือหมิกแจกง (默齋公 โม่ไจกง) บรรพบุรุษรุ่นที่แปดสายบุตรคนโต มีบุตรสองคน แต่ว่าซึงอู่เตี้ยง (孫有典 ซุนโหยวเตี่ยน) หรือเจียะฮีกง (石蹊公 สือซีกง) บรรพบุรุษรุ่นที่แปดสายบุตรคนที่สาม ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องร่วมบรรพบุรุษรุ่นที่สี่ มีบุตรีสามคน ได้แต่งงานกับสามขุนนาง และได้มีสมญานามว่า สามอภิชาตบุตรี (三女貴) จึงสรุปได้ว่าชื่อบุคคลอาจเกิดความคลาดเคลื่อน เนื่องจากเล่าสืบกันมาปากต่อปาก
——ตำนานที่สอง เล่าว่า ตอนหนึ่งของนิทานที่ปรากฏในบันทึกอธิบายภาพจอหงวนราชวงศ์หมิง 《明狀元圖考》 ฉบับรวบรวมข้อมูลในรัชศกว่านลี่ (萬曆 ค.ศ.1573–1620) มีเนื้อความว่า เนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิดของเอ็งบ่วงตั๊ก หลิ่มไต่คิมจึงประพันธ์กลอนมงคลคู่นี้เพื่อมอบเป็นของขวัญ ครั้นเอ็งบ่วงตั๊กได้อ่านกลอนคู่นี้ ก็กล่าวชมทันทีว่า ความสามารถระดับจอหงวนโดยแท้ (狀元才也) หลังจากเหตุการณ์นั้น หลิ่มไต่คิมก็สอบได้จอหงวนตามคำชม กลอนคู่นี้จึงแพร่หลาย และต่อมากลายเป็นกลอนมงคลประจำเทศกาลตรุษจีน
——ตำนานที่สาม เล่าว่า เมื่อครั้งหลิ่มไต่คิมดำรงชีพด้วยการเป็นครูในสำนักศึกษา พอถึงวันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนอ้ายในปีหนึ่ง ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของภรรยาเจ้าสำนัก เขาจึงได้ประพันธ์กลอนมงคลคู่นี้ อันมีใจความในเชิงอวยพรให้เจ้าของวันเกิดมีอายุยืนยาว ควบคู่กับการฉลองเทศกาลตรุษจีนด้วย
——แม้ในปัจจุบัน จะยังไม่มีผู้ใดทราบอย่างถ่องแท้ว่า กลอนคู่นี้มีที่มาจากตำนานเรื่องใดกันแน่ แต่สิ่งสำคัญคือ กลอนคู่นี้มีสำนวนภาษาอันสะท้อนบรรยากาศแห่งความปีติยินดี ความปรารถนาในบุญวาสนาและการมีอายุยืนของผู้คน กลอนคู่นี้จึงเป็นที่นิยมทั่วแผ่นดินจีน ใน ค.ศ. 2015 การไปรษณีย์แห่งประเทศจีน ได้ออกตราไปรษณียากรเพื่อฉลองเทศกาลตรุษจีน โดยนำกลอนมงคลคู่นี้มาใส่ไว้ในภาพด้วย
——หลิ่มไต่คิมเป็นบุคคลสำคัญของแต้จิ๋วที่มีบทบาทในด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากตำนานพื้นบ้าน สำนวนสุภาษิต ประเพณี รวมถึงกลอนคู่คลาสสิกแล้ว การสอบได้บัณฑิตอันดับหนึ่งในวังหลวงหรือครองตำแหน่งจอหงวนฝ่ายบุ๋นท่านเดียวในประวัติศาสตร์แต้จิ๋ว ทำให้หลิ่มไต่คิมได้รับการเคารพและเชิดชูเป็นต้นแบบความเพียรพยายามศึกษาของเหล่านักเรียนนักศึกษาทุกสมัยแห่งแต้จิ๋วด้วย
——แม้หลิ่มไต่คิมจะจากโลกนี้ไปแล้วเป็นเวลาเกือบ 500 ปี แต่เรื่องราวของหลิ่มไต่คิมยังเป็นที่กล่าวขาน หลอมหลวมเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น สืบสานจากรุ่นสู่รุ่น คนแต้จิ๋วรุ่นหลังได้นำเรื่องราวชีวิต บทกลอนรวมทั้งฎีกาบทความ “ถิงซื่อเช่อ” 《廷試策》 ของหลิ่มไต่คิมมาแต่งเป็นละครงิ้วแต้จิ๋ว จนหลายเรื่องโด่งดังและเป็นที่แพร่หลายจนเรียกได้ว่าเป็นผลงานคลาสสิก เช่น “จอหงวนหลิ่มไต่คิม” 《狀元林大欽》 “หลิ่มไต่คิมวัยเยาว์” 《少年林大欽》 “บทเพลงชุดหลิ่มไต่คิม” 《林大欽組曲》 ฯลฯ นอกจากนี้ ในยุคปัจจุบันยังมีละครโทรทัศน์เรื่อง “หลิ่มไต่คิม” 《林大欽》 ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตอันน่าสนใจของเขา ทำให้ชีวิตของยอดจอหงวนผู้นี้กลับมาโลดแล่นบนโลกนี้อีกครั้ง
[1] บางแหล่งกล่าวว่า “ตอเหมี่ยเกี้ย” (短命仔)
[2] “ชุกฮวยฮึ้ง” คือ พิธีก้าวผ่านวัย (成人禮) ตามคติชนถิ่นแต้จิ๋ว มีเค้าโครงมาจากพิธีสวมหมวก (冠禮) ของเพศชาย และพิธีปักปิ่น (笄禮) ของเพศหญิง สำหรับผู้ที่จะพ้นผ่านวัยเด็กเป็นผู้ใหญ่ตามจารีตจีนโบราณ
[3] 青 ย่อมาจากคำว่า 丹青 มีความหมายว่า “สื่อสารด้วยการเขียนหมึก”