—–จา

การก่อสร้างอันยิ่งใหญ่ของจีน การแกะสลักอันน่าทึ่งและหาที่ไหนไม่ได้ พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก .. พระใหญ่เล่อซานแห่งมณฑลเสฉวน

ภูผาคือองค์พระ องค์พระคือภูผา

—–พระใหญ่เล่อซาน (乐山大佛) พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประดิษฐานอยู่ที่เขาเล่อซาน เมืองเล่อซาน มณฑลเสฉวน สร้างขึ้นในปี ค.ศ.713 สมัยฮ่องเต้ถังเสวียนจง (唐玄宗) แห่งราชวงศ์ถัง (唐: ค.ศ. 618-907 ) จากหลักฐานที่ค้นพบภายหลังพบว่า เดิมพระพุทธรูปองค์นี้มีนามว่า รูปสลักหินพระศรีอริยเมตไตรยวัดหลิงอวิ๋นแห่งเมืองเจียโจว[1] (嘉州凌云寺大弥勒石像) แต่ชาวบ้านนิยมเรียกชื่อพระพุทธรูปตามลักษณะและทำเลที่ตั้ง จึงกลายเป็น “พระใหญ่เล่อซาน” และเรียกสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

  พระใหญ่เล่อซาน

—–ตามตำนานเล่าว่า แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำอันเชี่ยวกราก 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำหมินเจียง (岷江) แม่น้ำชิงอีเจียง (青衣江) และแม่น้ำต้าตู้ (大渡河) จึงเกิดเหตุเรืออับปางบ่อยครั้ง อีกทั้งในฤดูน้ำหลากของทุกปี มักเกิดอุทกภัยท่วมทำลายบ้านเรือนเสียหาย ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ในปี ค.ศ.713 หลวงจีนไห่ทง (海通) จึงสร้างพระพุทธรูปขึ้น โดยหวังว่าอานิสงส์ครั้งนี้จะส่งผลให้ภัยพิบัติทางน้ำลดลง และเศษหินจากการแกะสลักภูเขาจะช่วยปรับร่องน้ำให้ตื้นขึ้นและลดความแรงของกระแสน้ำได้  ทว่าเมื่อสร้างได้ถึงพระอังสา (บ่า) หลวงจีนไห่ทงก็มรณภาพลง หลายปีต่อมาแม่ทัพจางโฉวเจียนโฉง (章仇兼琼) ให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อสร้างพระพุทธรูปต่อ แต่ไม่นานแม่ทัพจางโฉวเจียนโฉงก็ย้ายไปประจำการที่เมืองอื่น ทำให้การสร้างพระพุทธรูปหยุดชะงักลงอีกครั้ง แม่ทัพเหวยเกา (韦皋) ได้สร้างต่อจนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 803 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 90 ปี

—–“ภูผาคือองค์พระ องค์พระคือภูผา” (山是一尊佛,佛是一座山。) เป็นถ้อยคำที่ผู้คนใช้พรรณนาถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธรูปองค์นี้มาแต่ครั้งโบราณ เพราะองค์พระมีพระเศียรสูงเสมอยอดเขาเล่อซาน ส่วนพระบาทอยู่บริเวณเชิงเขา รวมแล้วสูงถึง 71 เมตร พระพุทธรูปมีพระอังสาใหญ่หนา พระอุระ (อก) ดูมีเนื้อมีหนัง สะท้อนแนวคิด “งามแบบอวบอิ่ม” ตามหลักสุนทรียศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ถัง  อยู่ในอิริยาบถนั่ง พระหัตถ์วางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระบาทราบติดพื้นท่าทางมั่นคงดูน่ายำเกรง พระพักตร์หันออกทางแม่น้ำเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวเรือที่ต้องต่อสู้กับกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก เมื่อพิจารณาเฉพาะพระเศียร มีความสูง 14.7 เมตร กว้าง 10 เมตร พระกรรณยาว 7 เมตร พระเนตรและพระโอษฐ์ยาว 3.3 เมตร พระอังสากว้าง 24 เมตร และหลังพระบาทกว้าง 8.5 เมตร ซึ่งว่ากันว่าคนสามารถขึ้นไปยืนได้ถึง 100 คน

—–ลักษณะเด่นในการสร้างพระใหญ่เล่อซาน นอกจากจะเน้นความยิ่งใหญ่และความงดงามสมศักดิ์ศรีราชวงศ์ถังอันรุ่งโรจน์แล้ว  ยังสะท้อนถึงฝีมือการออกแบบอันชาญฉลาดของคนจีนสมัยโบราณ เช่น เม็ดพระศก[2] ที่เรียงซ้อนกันถึง 18 แถวบนพระเศียร รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,051 เม็ดนั้น ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นระบบระบายน้ำอันซับซ้อนที่เชื่อมถึงกันบนพระเศียร ก่อนที่จะระบายออกทางด้านหลังพระกรรณของพระพุทธรูป เพื่อลดการสึกกร่อนจากน้ำฝน ทำให้องค์พระยังคงสภาพดีแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมากว่า 1,300 ปีแล้วก็ตาม อีกทั้งวิธีการสร้างพระกรรณและพระนาสิก (จมูก) ของพระพุทธรูปนั้น แม้จะสร้างด้วยไม้แล้วใช้ปูนโบกทับแทนการแกะสลักหินเช่นบริเวณอื่นๆ แต่กลับดูประณีตและกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน นอกจากนี้ด้านข้างองค์พระทั้งฝั่งซ้ายและขวายังมีบันไดหินแกะสลักที่ลัดเลาะไปตามไหล่เขาอันสูงชัน จากบริเวณเชิงเขาสู่ยอดเขาสูงตระหง่านเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปชื่นชมทัศนียภาพด้านบนอีกด้วย

   พระใหญ่เล่อซาน

—–พระใหญ่เล่อซานไม่เพียงแต่เป็นความภาคภูมิใจของชาวเสฉวน แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงพลังศรัทธาและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวจีนในสมัยโบราณ ด้วยเหตุนี้เองในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1996  ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระใหญ่เล่อซานเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติคู่กับเขาง้อไบ๊(峨眉山)และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา พระใหญ่เล่อซานได้รับการยกย่องให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A ของประเทศจีนที่เหล่านักท่องเที่ยวผู้มีโอกาสมาเยือนเสฉวนไม่ควรพลาด


[1] เจียโจว (嘉州) ชื่อเรียกในอดีตของเมืองเล่อซาน มณฑลเสฉวน

[2] ปุ่มนูนของขมวดผมบนเศียรพระพุทธรูป

 

เรียบเรียงโดย ทีมงานอาศรมสยาม-จีนวิทยา