มังกรปลดทุกข์: ส้วมและสุขาในหน้าประวัติศาสตร์จีน เรื่องโดย ประจิตร ป้อมอรินทร์ |
—–ส้วมและสุขาเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตมนุษย์ นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า อารยธรรมของมนุษย์ไม่ได้เริ่มต้นเมื่อมนุษย์ประดิษฐ์ตัวอักษร แต่เริ่มต้นเมื่อมนุษย์สร้างห้องส้วมขึ้น ส้วมและสุขามีความเป็นมายาวนานหลายพันปี ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
—–จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ส้วมรุ่นเก่าแก่ที่สุดของจีนมีอายุราว 5,000 ปี ปัจจุบันอยู่ที่แหล่งอารยธรรมโบราณหมู่บ้านปั้นโพ (半坡村) เมืองซีอัน (西安) ส้วมในยุคนั้นเป็นเพียงหลุมดินที่อยู่นอกตัวบ้าน ผู้คนนิยมใช้หญ้าเหมาเฉ่า (茅草) ซึ่งมีลักษณะคล้ายหญ้าแฝกมาคลุมหลุมเอาไว้เพื่อดับกลิ่น ส้วมแบบนี้จึงมีชื่อเรียกว่า ‘เหมาเคิง’ (茅坑) หรือ ‘เหมาเช่อ’ (茅廁)
คัมภีร์อี๋หลี่
—–บันทึกลายลักษณ์อักษรแรกสุดที่เกี่ยวข้องกับส้วมของจีนอยู่ในคัมภีร์ ‘อี๋หลี่’ 《儀禮》 ซึ่งบรรยายไว้ว่า ‘ทาสขุดดินเป็นส้วม’ (隸人涅廁) กล่าวคือ มีการใช้แรงงานทาสเพื่อขุดดินเป็นหลุมสำหรับขับถ่าย เมื่อสิ่งปฏิกูลเต็มก็ให้ทาสกลบหลุมแล้วขุดหลุมใหม่ จึงนับได้ว่า ‘ส้วมหลุม’ ถือเป็นต้นกำเนิดห้องส้วมของจีน
—–จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ส้วมของราชสำนักโจวมีส่วนของบ่อเกรอะแล้ว สิ่งปฏิกูลจะซึมลงไปในบ่อโดยอัตโนมัติ คัมภีร์ ‘โจวหลี่’《周禮》ซึ่งเป็นบันทึกเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติสมัยราชวงศ์โจว เล่าไว้ว่า ‘ข้ารับใช้รับผิดชอบทำความสะอาดห้องให้กษัตริย์โจว ขุดหลุมส้วม ทำความสะอาดสิ่งสกปรก กำจัดกลิ่นเหม็น’ (宮人,掌王之六寢之修,為其井匽,除其不蠲,去其惡臭。) คำว่า ‘井匽’ สมัยโบราณ หมายถึง หลุมหรือท่อระบายสิ่งปฏิกูล
—–นอกจากนี้คัมภีร์ ‘จั่วจ้วน’ 《左傳》ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สมัยชุนชิว ยังบรรยายไว้ว่า ‘(จิ้นจิ่งกง) กินอาหาร ไปเข้าห้องส้วม ตกส้วม จมอุจจาระตาย’ (將食,漲,如廁,陷而卒。) กล่าวคือ จิ้นจิ่งกงซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองรัฐจิ้น กินอาหารแล้วแน่นท้อง จึงไปเข้าห้องส้วม ทรงตัวไม่อยู่ พลัดตกลงไปตาย (ในหลุมส้วม)
—–ส้วมปรากฎขึ้น ณ ดินแดนเมโสโปเตเมียเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นส้วมที่ออกแบบง่ายๆ คือเป็นหลุมที่มีถังรองไว้ด้านล่าง สามารถนำถังไปเททิ้งได้ ส้วมลักษณะนี้ถือเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมห้องส้วมในเวลาต่อมา
—–มีหลักฐานยืนยันได้ว่าในสมัยราชวงศ์ฉิน (秦 221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และราชวงศ์ฮั่น (漢 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) มีคำเรียกห้องส้วมที่หลากหลาย ทั้ง ‘เช่อ’ (廁) ‘ฮุ่น’ (溷) และ ‘โย่ว’ (囿) ในสมัยราชวงศ์ฉินคำว่า ‘ฮุ่น’ โดยทั่วไปหมายถึง ‘คอกหมู’ ภายหลังจึงกินความถึง ‘ห้องส้วม’ ด้วย เพราะในสมัยนั้นชาวจีนเข้าใจวิธีการใช้ปุ๋ยคอกเป็นอย่างดีแล้ว จึงมีการสร้างห้องส้วมไว้บนที่สูง มีบันไดสำหรับปีนขึ้นลง เมื่อคนขับถ่ายก็จะไหลลงสู่คอกหมูเพื่อเป็นอาหารหมู หรือนำไปใช้เป็นปุ๋ยธรรมชาติ
—–หากเปรียบเทียบกับ ‘ส้วมหลุม’ ยุคก่อนราชวงศ์ฉินแล้ว ห้องส้วมในสมัยราชวงศ์ฉินมีกำแพงและรางปัสสาวะต่างหาก ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ากำแพงดังกล่าวมีไว้สำหรับแยกส่วนขับถ่ายของผู้ชายและผู้หญิง
คอกหมูและห้องส้วมมักอยู่ด้วยกัน
—–มีการค้นพบในแหล่งโบราณคดีที่เมืองเหลียวหยาง (遼陽) สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西漢 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 8) ว่าคอกสัตว์อยู่ใกล้กับห้องส้วม และในคอกสัตว์มีร่องรอยของปุ๋ยคอก ทำให้สามารถยืนยันได้ว่าคอกหมูและห้องส้วมมักอยู่ใกล้กันหรืออยู่ด้วยกัน
—–หลังสมัยราชวงศ์ฮั่น ห้องส้วมถูกออกแบบให้กะทัดรัดและปลอดภัยมากขึ้น สังคมชั้นสูงค่อนข้างใส่ใจเรื่องห้องส้วม ส่วนใหญ่มักสร้างห้องส้วมบนคอกหมูที่อยู่แยกต่างหากจากตัวบ้าน ปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ห้องส้วมเริ่มมีผนังรอบด้านเพื่อความเป็นส่วนตัว บันไดไม้ชันๆ สำหรับขึ้นห้องส้วมถูกแทนที่ด้วยบันไดกว้างหรือเนินลาดเอียง ส้วมบางแห่งมีที่นั่ง 2 ที่ บนผนังห้องมีช่องลมเพื่อให้อากาศถ่ายเท
ส้วมดินเผา
—–นอกจากนี้ยังมีการค้นพบห้องส้วมดินเผาโบราณในสุสานสมัยราชวงศ์ฮั่น ห้องส้วมนี้มีรูปทรงเหมือนสิ่งปลูกสร้างที่พบได้บ่อยในสมัยนั้น การออกแบบเช่นนี้ทำให้ระบายสิ่งสกปรกออกนอกห้องส้วมได้อย่างรวดเร็ว ต่อมามีการค้นพบห้องส้วมที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดของประเทศจีนที่สุสานของเหลียงอ๋อง (梁王) หรือหลิวอู่ (劉武 184-144 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โอรสของจักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ (漢文帝 203-157 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่นั่งสำหรับขับถ่ายทำจากก้อนหิน รูปทรงใกล้เคียงกับโถส้วมในปัจจุบัน เพียงแต่ไม่มีระบบน้ำเท่านั้น
ส้วมหินที่สุสานเหลียงอ๋อง
—–นอกจากห้องส้วมและโถส้วมทั่วไปแล้ว ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับโถส้วมเคลื่อนที่เป็นครั้งแรกใน ‘บันทึกเมิ่งเหลียงลู่’ 《夢粱錄》 ซึ่งบรรยายเอาไว้ว่า ‘บ้านเรือนหลังเล็กตามท้องถนน ส่วนมากไม่มีส้วมหลุม จึงใช้โถส้วมเคลื่อนที่…’ (街巷小民之家,多無坑廁,只用馬桶…) สมัยนั้นคำว่า ‘馬桶’ หมายถึง ส้วมเคลื่อนที่หรือกระโถนนั่นเอง
—–‘บันทึกปกิณกะซีจิง’ 《西京雜記》เล่าไว้ว่า ‘ราชสำนักฮั่นใช้หยกแกะสลักเป็นโถส้วม แล้วให้องครักษ์คอยถือตามเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พระจักรพรรดิ’ เมื่อถึงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่น พระจักรพรรดิเริ่มใช้โถส้วมที่มีฝาปิดมิดชิด เวลาใช้จะต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ข้าราชบริพารจะจุดกำยานและคอยปรนนิบัติอยู่ไม่ห่าง ด้านล่างโถส้วมทำด้วยถ่านไม้หอมเพื่อกำจัดกลิ่น
—–คัมภีร์ ‘ซื่อซัวซินอวี่’ 《世說新語》 บันทึกไว้ว่า ‘เชื้อพระวงศ์สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก (西晉 ค.ศ. 265-316) เวลาเข้าห้องส้วมจะใช้ลูกพุทราอุดจมูกป้องกันกลิ่นเหม็น’ บุรุษผู้มั่งคั่งที่สุดในสมัยจิ้นตะวันตกนามว่าสือฉง (石崇) ได้สร้างห้องส้วมที่บ้านเป็นหอสูง ด้านล่างเป็นไม้ระแนงที่ปูด้วยขนห่าน ของเสียจากการขับถ่ายจะร่วงลงบนขนห่านและถูกขนห่านห่อหุ้มเอาไว้ เด็กรับใช้จะกำจัดของเสียและเปลี่ยนไม้ระแนงเสียใหม่เพื่อไม่ให้ส่งกลิ่นเหม็น
—–ในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) ขันทีตำแหน่งต่ำที่สุดจะเป็นผู้ทำความสะอาดส้วมหลุมและล้างโถส้วม ส่วนในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) มีห้องที่เรียกว่า ‘จิ้งฝาง’ (淨房 ห้องสะอาด) ถือเป็นห้องส้วมยุคแรกในพระราชวัง ในห้องมีที่เก็บโถส้วม ในโถจะใส่ขี้เถ้าเตรียมไว้สำหรับการถ่ายหนัก เมื่อถ่ายเสร็จก็กลบด้วยขี้เถ้า แต่หากต้องการถ่ายเบาไม่ต้องใช้ขี้เถ้า ก็เพียงแค่ปัสสาวะลงในถังแล้วปิดฝา
—–โถส้วมในสมัยราชวงศ์ชิงมีชื่อเรียกให้สุภาพว่า ‘กวนฝาง’ (官房 ภาชนะราชการ) ตัวโถได้รับการผลิตอย่างพิถีพิถัน โถส้วมชนิดนี้ใช้ได้เฉพาะพระจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์ กวนฝางมี 2 ประเภท คือ แบบสี่เหลี่ยมและแบบวงรี ทำขึ้นจากไม้ ดีบุก หรือกระเบื้อง กวนฝางที่ทำจากไม้จะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านบนบุนวมนิ่มๆ มีช่องรูปวงรีสำหรับขับถ่าย ด้านล่างมีภาชนะที่สามารถเลื่อนเข้าออกได้เหมือนลิ้นชัก โดยทั่วไปภาชนะไม้ด้านล่างจะมีดีบุกอยู่ภายในเพื่อป้องกันการรั่วซึม ส่วนกวนฝางที่ทำจากดีบุกจะเป็นรูปวงรี บนภาชนะมีฝาไม้สำหรับปิด กวนฝางสมัยราชวงศ์ชิงไม่ต่างกับโถส้วมในปัจจุบันนัก เพียงแต่ราดน้ำไม่ได้ ในสมัยนั้นหากพระนางซูสีไทเฮา (慈禧太后 ค.ศ. 1835-1908) บอกว่าต้องการใช้ ‘ภาชนะราชการ’ นางสนมจะต้องรีบแยกย้ายกันทำหน้าที่ คนหนึ่งไปเรียกขันทีผู้ดูแลกวนฝาง คนหนึ่งหยิบเบาะรองนั่ง ส่วนอีกคนหนึ่งหยิบกระดาษชำระ
‘กวนฝาง’ โถส้วมในพระราชวังสมัยราชวงศ์ชิง
—–นอกจากห้องส้วมตามบ้านเรือนและพระราชวังแล้ว ยังมีห้องส้วมสาธารณะซึ่งมีเจ้าของ โดยห้องส้วมสาธารณะจีนถือกำเนิดขึ้นก่อนห้องส้วมสาธารณะในโลกตะวันตกหลายร้อยปี ห้องส้วมสาธารณะของจีนในยุคแรกมีบันทึกไว้ในคัมภีร์ ‘โจวหลี่’ โดยเรียกห้องส้วมสาธารณะว่า ‘ลู่เช่อ’ (路廁 ห้องส้วมริมทาง) ส่วนห้องส้วมสาธารณะสมัยราชวงศ์ฮั่นเรียกว่า ‘ตูเช่อ’ (都廁 ห้องส้วมรวม) นอกจากนี้ในสุสานสมัยราชวงศ์ฮั่นที่เมืองหนานหยาง (南陽) ยังพบว่าห้องส้วมสาธารณะมีการแบ่งเป็นห้องส้วมชายและห้องส้วมหญิง ห้องส้วมชายมีรางปัสสาวะซึ่งคล้ายกับห้องน้ำในปัจุบันอย่างมาก
—–สมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) ห้องส้วมสาธารณะในเมืองใหญ่ๆ จะมีคนทำหน้าที่เก็บอุจจาระโดยเฉพาะจนกลายเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง คนเก็บอุจจาระจะลากรถเข็นหรือใช้วัวควายลากรถเข็นไปตามท้องถนน แล้วนำอุจจาระไปขายให้เกษตรกรที่ต้องการ ห้องส้วมสาธารณะส่วนใหญ่เก็บค่าบริการ กำไรจากค่าบริการและเงินจากการขายอุจจาระรวมกันแล้วมากพอสมควร ทำให้ห้องส้วมสาธารณะในสมัยนั้นเป็นธุรกิจที่ทำกำไรดีธุรกิจหนึ่ง
—–ตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์หมิงจนถึงต้นราชวงศ์ชิง ‘บันทึกปกิณกะเยียนจิง’ 《燕京雜記》บรรยายเกี่ยวกับห้องส้วมสาธารณะที่เก็บค่าบริการไว้ว่า ‘ห้องส้วมสาธารณะที่ปักกิ่ง คนเข้าต้องจ่ายเงิน’ (北京的公共廁所,入廁者必須交錢) ผู้ใช้บริการสามารถหยิบกระดาษชำระได้ 2 แผ่น เจ้าของห้องส้วมมักแขวนป้ายประกาศขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดลูกค้า นอกจากนี้ในห้องส้วมยังมีนวนิยายหรือหนังสือชนิดอื่นๆ ไว้บริการ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจแล้วกลับมาใช้บริการใหม่
—–ในเมืองที่มีผู้คนมากอย่างปักกิ่ง เวลาขาดแคลนน้ำ ผู้คนทุกชนชั้นไม่ว่าจะเป็นขุนนางชั้นสูงหรือชนชั้นล่างล้วนเคยชินกับการขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทางและไม่ราดน้ำ ปัญหาการขับถ่ายจึงค่อยๆ สั่งสมจนเข้าขั้นวิกฤต ถึงแม้ราชสำนักจะมีการออกข้อห้าม แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้มาก สภาพดังกล่าวค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 1949
—–แม้ว่าจีนจะเป็นชนชาติแรกที่ผลิตกระดาษขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น แต่เป็นระยะเวลานานที่ไม่มีการนำกระดาษมาใช้ทำความสะอาดหลังขับถ่าย ลักษณะการทำความสะอาดก้นแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกันไป บ้างใช้ใบไม้ บ้างใช้ก้อนหิน บ้างใช้น้ำล้าง สำหรับพระจักรพรรดิบางพระองค์อาจใช้ผ้าไหมเช็ดก้น จากบันทึกประวัติศาสตร์ทำให้พบว่า เป็นระยะเวลานานพอสมควรที่คนจีนใช้ติ้วไม้หรือติ้วไม้ไผ่ซึ่งเรียกว่า ‘เช่อโฉว’ (廁籌) เพื่อเช็ดก้น คำว่า ‘เช่อโฉว’ ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในหนังสือประวัติศาสตร์ปลายสมัยราชวงศ์ฮั่น บ้างคาดการณ์ว่าเนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อเรื่องความเคารพกระดาษที่ใช้เขียนหนังสือ จึงไม่นำกระดาษมาเช็ดก้น เมื่อถึงปลายสมัยราชวงศ์ชิง ราชสำนักได้ออกข้อกำหนดไม่ให้ใช้กระดาษที่มีตัวหนังสือติดอยู่มาเช็ดก้น ต่อมาความเชื่อดังกล่าวได้ค่อยๆ เสื่อมไปตามกาลเวลา
‘เช่อโฉว’ แผ่นไม้หรือแผ่นไม้ไผ่สำหรับเช็ดก้น
—–การใช้กระดาษชำระของจีนเริ่มมาจากห้องส้วมในพระราชวัง ‘บันทึกหมิงสือลู่’ 《明實錄》 บรรยายไว้ว่า ‘จักรพรรดิหงจื้อเป็นผู้ประหยัดมัธยัสถ์ เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกที่รับสั่งให้ใช้กระดาษเช็ดก้นแทนผ้าไหม’
—–แม้ประเทศจีนในยุคใหม่จะมี ‘ชื่อเสีย’ เรื่องสุขาจนเป็นที่โจษจัน เพราะสุขาในชนบทส่วนมากยังคงล้าหลังและสกปรก แต่สุขาจำนวนมากตามเมืองใหญ่ๆ ก็ได้รับการพัฒนาจนสะอาดและทันสมัยเทียบเท่านานาชาติแล้ว