คุณค่าของหยกในวัฒนธรรมจีน —–‘หยก’ เป็นรัตนชาติที่อยู่คู่วัฒนธรรมจีนมาอย่างยาวนาน นับแต่โบราณมาชาวจีนก็มีความเชื่อความศรัทธาในหยกและยกย่องให้หยกเป็นสัญลักษณ์แห่งความสิริมงคลเจริญรุ่งเรือง ซึ่งจะนำความโชคดีมาสู่ผู้ครอบครอง อีกทั้งหยกยังเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณลักษณะอันสูงส่งที่คนเราพึงยึดถือไว้ นั่นคือซื่อสัตย์ภักดี จริงใจเที่ยงธรรม สุขุมเยือกเย็นและมีคุณธรรมน้ำมิตร ด้วยเหตุนี้ หยกจึงเป็นสิ่งมีค่าที่ชาวจีนไม่ว่าชนชั้นใดต่างก็ชื่นชอบและศรัทธาบูชามาตลอดหลายพันปีในประวัติศาสตร์จีนอันยาวนาน ซึ่งมีทั้งการนำหยกมาเจียระไนประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับนานาชนิดและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น แหวน กำไล ปิ่นปักผม ตราประทับ ไม้เท้า จอกเหล้า ถ้วยชาม เป็นต้น —–ประโยชน์และคุณค่าของหยกจำแนกโดยสังเขปได้ดังนี้ การนำหยกมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ รวมถึงอาวุธต่างๆ นั้น พบเห็นได้ไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ของหยกในด้านอื่น ในสังคมจีนโบราณเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหยกส่วนใหญ่ ได้แก่ ขวานหยก พลั่วหยก มีดหยก กริชหยก และภาชนะต่างๆ ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซาง (商 1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ต่อมาเครื่องใช้ที่ทำจากหยกเหล่านี้ถูกยกระดับเป็นของประดับที่แสดงถึงอำนาจบารมี ความมั่งคั่งและสถานะของผู้ครอบครอง —–ชาวจีนนิยมประดับกายด้วยเครื่องประดับที่ทำจากหยก ไม่เพียงเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว ยังพกพาติดตัวเพื่อความเป็นสิริมงคล นำมาซึ่งโชคลาภและเป็นการขจัดเภทภัยต่างๆ อีกด้วย เครื่องประดับหยกในลักษณะเช่นนี้ ได้แก่ หวง (璜 หยกรูปพระจันทร์เสี้ยว) เพ่ย (佩 หยกที่ไว้ห้อยกับเสื้อผ้าอาภรณ์ในสมัยโบราณ) จูจุ้ย (珠坠 หยกทรงกลมใช้แขวน) นอกจากนี้ยังนิยมนำหยกมาแกะสลักเป็นสิ่งประดับที่แฝงความหมายของอายุมั่งขวัญยืนด้วย เช่น หยกแกะสลักรูปผลท้อหรือรูปเต่า ชาวจีนให้ความสำคัญและบูชาหยกอย่างเด่นชัดตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (汉 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) และได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) กับราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1911) เครื่องประดับหยกเหล่านี้มีความผูกพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีนในที่สุด —–การใช้หยกสื่อแทนน้ำใสใจจริงที่มีต่อผู้อื่นมีมานานแล้วในวัฒนธรรมจีน ดังที่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรในตำราโบราณ ‘กวีนิพนธ์’《诗经》ที่มีบทกลอนหนึ่งพรรณนาไว้ว่า “แม้นอีกฝ่ายมอบให้เพียงผลแตง ขอตอบแทนมอบคืนด้วยหยกงาม หวังสืบสานผูกเกี่ยวมิตรสัมพันธ์…” ในการหมั้นหมายของหนุ่มสาวก็นิยมมอบหยกให้อีกฝ่ายไว้เป็นสัญญาวัตถุเพื่อใช้แทนคำมั่นสัญญาที่มีให้แก่กัน เหตุผลที่ชาวจีนใช้หยกสื่อแทนความรักและคุณธรรมน้ำมิตรก็เพราะหยกมีคุณลักณะเป็นหินที่งามบริสุทธิ์ —–การแกะสลักหยกเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งของจีน ชิ้นงานเหล่านี้ไม่เพียงมีมูลค่าเป็นตัวเงินเท่านั้นยังมีคุณค่าด้านจิตใจอีกด้วยจึงเป็นสมบัติมีค่าที่นิยมสะสมและมีไว้ชื่นชม นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หมิง จนถึงราชวงศ์ชิงได้ปรากฎผลงานแกะสลักหยกที่เลียนแบบผลงานชั้นเลิศในอดีตเรื่อยมา ในยุคสมัยเหล่านี้จึงมีชิ้นงานแกะสลักหยกให้เห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ประดิษฐ์จากฝีมืออันเยี่ยมยอด —–ตามประเพณีและพิธีกรรมโบราณของจีนได้ใช้หยกเป็นเครื่องบวงสรวงอย่างหนึ่ง มีการบันทึกไว้ว่า ในสมัยราชวงศ์โจว (周 1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) หยกที่ใช้เฉพาะในพิธีบวงสรวงแบ่งเป็น 6 ประเภทและได้กำหนดคุณลักษณะของหยกทั้ง 6 ประเภทไว้อย่างละเอียดใน ‘นิติธรรมเนียมราชวงศ์โจว’《周礼》 เพื่อจำแนกตามพิธีกรรมที่แตกต่างกัน เช่น พิธีกรรมบวงสรวงฟ้าดิน พิธีกรรมบวงสรวงทิศทั้ง 4 และพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพชน เป็นต้น —–หยกเป็นสิ่งมีค่าและมีความงดงาม ในสมัยราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ. 618-907) ขุนนางระดับ 5 สามารถพกทองติดตัวได้ แต่หากต้องการพกหยกติดตัวต้องเป็นขุนนางตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป สำหรับกษัตริย์กับรัชทายาทจะพกหยกติดตัวไว้เสมอ ครั้นมาถึงสมัยราชวงศ์หมิงมีเพียงกษัตริย์ รัชทายาทและขุนนางชั้นเอกฝ่ายบุ๋นเท่านั้นที่พกหยกติดตัวได้ หยกที่นิยมพกติดตัวนี้มักเป็นเครื่องประดับชิ้นเล็กหรือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสายคาดเอวขุนนาง —–หลังจากยุคราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา ชาวจีนได้รับอิทธิพลทางความเชื่อจากลัทธิเต๋าที่ว่า หากนำหยกมาปิดรูปทวารทั้ง 9 ของคนตายจะช่วยคุ้มครองให้ดวงวิญญาณนั้นปลอดภัยและไม่แตกสลายไป จึงมีการนำหยกมาปิดหู ปิดตา ปิดจมูก และวางหยกไว้ในปากของผู้ตาย โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ อาทิ ผู้มีตำแหน่งเป็นอ๋อง (王) หรือโหว (候) เมื่อเสียชีวิตจะนิยมนำหยกฝังไปพร้อมกับศพด้วย —–หลังยุคราชวงศ์โจวเป็นต้นมา การมอบหยกเป็นของกำนัลแก่กันเป็นที่นิยมมากขึ้นโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง วัฒนธรรมนี้สืบทอดมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ปัจจุบันชาวจีนยังคงนิยมมอบหยกในรูปแบบต่างๆ เป็นของกำนัลแก่กันตามเทศกาลและโอกาสที่เหมาะสม —–มีหยกหลายชนิดสามารถใช้เป็นยาได้ ตาม ‘บันทึกสมุนไพรและตำรายา’《本草纲目》ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราเภสัชวิทยาว่าด้วยสมุนไพรจีนเล่มสมบูรณ์ เขียนโดยหลี่สือเจิน (李时珍 ค.ศ.1518 – 1593) นักเภสัชวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของจีนได้กำหนดหยก 14 ชนิดที่มีคุณสมบัติใช้เป็นส่วนประกอบของตัวยา สำหรับตำราการแพทย์แผนโบราณจีนที่มีอายุเก่าแก่กว่านี้ เช่น ‘เสินหนงเปิ่นเฉ่า’ 《神农本草》กับ ‘หวงตี้เน่ยจิง’《黄帝内经》ก็ได้บันทึกไว้ว่า หยกชั้นดีมีคุณสมบัติในการรักษาสมาธิและช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ชาวจีนจึงนำหยกมาประดิษฐ์เป็นหมอนหนุน ที่ปูนอนและเครื่องมือนวดตัว เพื่อใช้ในการรักษาโรคด้วย —–จากคุณสมบัติของหยกที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายและมีคุณค่าในทางจิตใจดังที่ยกตัวอย่างมานี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวจีนที่มีความผูกพันกับหยกมาช้านาน อาจกล่าวได้ว่า เกือบทุกช่วงวัยของชีวิต ตั้งแต่เกิดจนสิ้นลมหายใจ หยกมีความสัมพันธ์และเกี่ยวโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนเสมอมา ในทัศนะของชาวจีน ‘หยก’ จึงมีความสำคัญและมีคุณค่าสูงส่งกว่าอัญมณีอื่นๆ ดังเห็นได้จากที่ชาวจีนมักเปรียบเปรยไว้ว่า “ทองคำนั้นราคาค่างวดกำหนดได้ แต่หยกงามมีค่าเกินกว่าจะประมาณ” (黄金有价玉无价) นอกจากนี้ หยกยังเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมจีนที่แตกต่างจากชนชาติอื่นอีกด้วย