—–เมื่อกล่าวถึง ‘ขันที’ เรามักนึกถึงชายชาวจีนที่ถูกตอนอวัยวะเพศ และคอยปรนนิบัติรับใช้อยู่ภายในวังหลวงจีนสมัยโบราณ น้อยคนนักที่จะรู้ว่าในประวัติศาสตร์จีนไม่ได้มีเพียงเพียงชายชาวจีนเท่านั้น แต่ยังมีขันทีต่างชาติอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกส่งตัวมาจากแคว้นน้อยใหญ่เสมือนทูตบรรณาการเพื่อแสดงความสวามิภักดิ์และความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรจีนผู้ยิ่งใหญ่ กำเนิดของขันทีต่างชาติ —–บันทึกทางประวัติศาสตร์ในราชวงศ์หยวน (元 ค.ศ. 1206-1368) กล่าวถึงขันทีคนแรกที่เป็นชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์จีน มีชื่อว่า ‘ผู่ปู้ฮวา’ (朴不花 ราว ค.ศ. 1328-1364) หรือ ‘พัคบุลฮวา’ (박불화 Bak Bulhwa) ในภาษาเกาหลี ขันทีผู้นี้เกิดในรัชสมัยจักรพรรดิหยวนเหวินจง (元文宗 ค.ศ. 1304-1332) ซึ่งก็คือช่วงที่อาณาจักรโครยอ[1]หรือเกาหลี (高麗 ค.ศ. 918-1392) อยู่ในอำนาจปกครองของจีน จึงเป็นเหตุให้ต้องส่งเด็กชายหญิงจำนวนหนึ่งมายังจีนเพื่อแสดงความสวามิภักดิ์และถือเป็นเครื่องบรรณาการในฐานะประเทศราชของราชวงศ์หยวนสมัยนั้น และก็ไม่แปลกเลยที่ในยุคราชวงศ์หยวนจะมีขันทีชาวต่างชาติ เนื่องจากราชวงศ์หยวนในยุคนั้นได้แผ่แสนยานุภาพอย่างยิ่งใหญ่ไพศาล นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนที่ชนกลุ่มน้อยสามารถยึดอำนาจการปกครองทั่วทั้งแผ่นดินจีนได้ —–พัคบุลฮวาถูกส่งตัวเข้ามา ‘ชำระกาย’ หรือ ‘ตอน’ (净身) ในวังตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จากนั้นจึงได้เริ่มงานปรนนิบัติรับใช้ สาวน้อยที่เข้าวังมาพร้อมเขาในตอนนั้นต่อมาคือ จักรพรรดินีฉี (奇皇后 ค.ศ. 1315-1369) ทั้งสองเป็นเพื่อนเล่นและคอยปรับทุกข์กันเสมอจึงสนิทชิดเชื้อตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อนางเริ่มโตเป็นสาวก็ยิ่งมีรูปโฉมงดงาม จักรพรรดิหยวนฮุ่ยจง (元惠宗 ค.ศ. 1320-1370) หรือสมเด็จพระจักรพรรดิทอคอนเตมูร์ (ภาษามองโกล Toghon Temür) โอรสของจักรพรรดิหยวนเหวินจง ได้มาพบก็ต้องตากับความงามของนาง จึงรับนางเข้าไปอยู่ในราชสำนัก หยวนฮุ่ยจงทั้งรักทั้งหลงนาง หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์จึงสถาปนาให้เป็นจักรพรรดินีองค์ที่ 2 แม้ว่าพระนางจะได้ดีแต่ก็ยังไม่ลืมเพื่อนเก่าอย่างพัคบุลฮวาเลย จักรพรรดิหยวนฮุ่ยจง จุดเริ่มต้นของอำนาจ —–เพราะเหตุที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจักรพรรดินีฉี พระนางจึงโปรดให้ขันทีพัคบุลฮวามาคอยรับใช้จนกลายเป็นข้าราชบริพารคนโปรด และต่อมาได้เลื่อนยศให้อย่างรวดเร็ว พระนางยังสนับสนุนให้พัคบุลฮวาเข้าไปอยู่ในกรมพระคลัง นอกจากนี้จักรพรรดิหยวนฮุ่ยจงยังไว้วางพระทัยและมักมีรับสั่งให้พัคบุลฮวาไปเยี่ยมหรือช่วยชาวบ้านผู้ประสบภัยทั้งหลาย เหล่าขุนนางก็พากันประจบประแจงพร้อมขนามนามเขาว่า ‘ผู้ทรงอำนาจทั่วปฐพี’ —–หลังจากจักรพรรดินีฉีให้กำเนิดพระโอรส ขันทีพัคบุลฮวาก็คอยรับใช้และโน้มน้าวให้จักรพรรดิหยวนฮุ่ยจงแต่งตั้งองค์ชายเป็นรัชทายาท รวมทั้งจัดการทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับองค์ชาย ขันทีพัคบุลฮวายังได้กราบบังคมทูลให้จักรพรรดิหยวนฮุ่ยจงแต่งตั้งซั่วซือเจี้ยน (搠思监 ไม่แน่ชัด-ค.ศ. 1364) เป็นอัครเสนาบดี โดยในขณะนั้นพัคบุลฮวาเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลไปทั่วแคว้น ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบาย การบรรจุแต่งตั้งขุนนางต่างๆ รวมถึงจัดการกับขุนนางที่ไม่ยอมก้มหัวให้ ความปั่นป่วนในราชสำนักและจุดจบของขันทีผู้ยิ่งใหญ่ —–เนื่องด้วยจักรพรรดิหยวนฮุ่ยจงไว้วางพระทัยรวมทั้งให้อิสระแก่พัคบุลฮวาและซั่วซือเจี้ยนในการบริหารราชการแผ่นดิน พวกเขาจึงกำเริบเสิบสาน เกิดการแย่งชิงอำนาจเพื่อกุมกำลังทหารและสรรพาวุธ ก่อความวุ่นวายในราชสำนัก พวกเขายังวางแผนผลักดันให้รัชทายาทที่เกิดจากจักรพรรดินีฉีขึ้นครองราชบัลลังก์ และจักรพรรดินีฉีก็เห็นด้วยกับแผนการนี้ แต่มีฝ่ายขุนนางที่ต่อต้านไม่เห็นด้วย จึงเกิดการใส่ร้ายป้ายสีกัน ทว่าพอดลัดเตมูร์ (Bolad Temür) ขุนนางผู้จงรักภักดีต่อจักรพรรดิหยวนฮุ่ยจง ล่วงรู้แผนการนี้ จึงนำกองกำลังเข้ายึดเมืองต้าตูข่านบาลิก องค์ชายรัชทายาทสู้ไม่ได้เป็นเหตุให้ต้องเสด็จหนีออกจากเมือง พอดลัดเตมูร์จับจักรพรรดินีฉีไว้เป็นตัวประกัน เมื่อความทราบถึงพระกรรณจักรพรรดิหยวนฮุ่ยจงจึงมีรับสั่งให้จับขันทีพัคบุลฮวาและซั่วซือเจี้ยนเข้าคุก สุดท้ายพัคบุลฮวาก็ถูกประหาร ในขณะที่ปัญหาการเมืองภายในยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วง จักรพรรดิหงอู่ (洪武帝 ค.ศ. 1328-1398) หรือจูหยวนจาง (朱元璋) ก็เริ่มส่งทหารรุกล้ำโจมตี จักรพรรดิหงอู่ ขันทีต่างชาติยุคหลังราชวงศ์หยวน —–เมื่อราชวงศ์หยวนล่มสลาย ราชวงศ์หมิง (明 ค.ศ. 1368-1644) เข้ามามีบทบาท และในยุคราชวงศ์หมิงนี้เองขันทีจากเกาหลี ชื่อว่าไห่โซ่ว (海壽) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในรัชสมัยจักรพรรดิหงอู่ ได้ถูกพระเจ้าแทโจแห่งโชซ็อน (李成桂 Yi Seong gye ค.ศ. 1335-1408) ส่งตัวเข้ามารับใช้ในวังหลวงของจีน เฉินเสวียหลิน (陳學霖 Chan Hok-lam ค.ศ. 1938-2011) นักประวัติศาสตร์จีนผู้เขียนหนังสือเรื่องไห่โซ่วขันทีเกาหลีในรัชสมัยหย่งเล่อ《海壽—永樂朝一位朝鮮籍太監》กล่าวไว้ว่าขันทีไห่โซ่วในฐานะทูตบรรณาการถูกส่งตัวกลับประเทศถึง 7 ครั้ง หลังจากเป็นตัวแทนออกไปติดต่อหาสิ่งของ ทรัพย์สิน และยังเสาะหาสาวบริสุทธิ์ชาวเกาหลีเพื่อมาเป็นตัวเลือกนางสนมแก่ฮ่องเต้อีกด้วย ในรัชสมัยราชวงศ์หมิงนั้นขันทีชาวต่างชาติไม่มีบทบาทข้องเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองแต่อย่างใด —–บันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง《明實錄》ได้กล่าวไว้ว่าในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ ค.ศ. 1424 มีการร้องขอให้ส่งขันทีจากเกาหลีกว่า 200 คน นอกจากนี้ยังมีขันทีชนชาติอันหนาน (安南籍) หรือเวียดนามเหนือในปัจจุบันอีกด้วย แต่มีจำนวนไม่มากเท่ากับเกาหลี บันทึกตรวจสอบขันทีชาวอันหนานในราชวงศ์หมิง (จินอิง ซิ่งอัน) 《明代安南籍太監史事考述—金英、興安》 กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า วัดโบราณที่สำคัญในเมืองหลวงปักกิ่ง แม้ว่าจะได้รับคำสั่งให้บูรณะซ่อมแซม แต่ความจริงแล้วหัวเรี่ยวหัวแรงคือขันทีชาวอันหนาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกภารกิจนอกเหนือจากการเข้ามาเป็นทูตบรรณาการในสมัยราชวงศ์หมิง ในยุคนี้มีการแบ่งขันทีต่างชาติออกเป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้อย่างชัดเจน ต่อมาในยุคราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ. 1616-1912) มีการส่งขันทีเกาหลีมาเฉลี่ยปีละ 3 คนเท่านั้น เนื่องจากในยุคนี้เริ่มมีความเข้มงวดกับขันทีมากขึ้น —–การที่จีนมีขันทีชาวต่างชาตินั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากในสมัยโบราณมีอาณาจักรมากมายที่อยู่ในอำนาจการปกครองของจีน แต่ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์จีนไม่ปรากฏขันทีที่เป็นชาวตะวันตก ตาสีฟ้าผมสีทองจมูกโด่งเลย ทั้งนี้เพราะสภาพการณ์ของจีนในยุคนั้นมีการล่าดินแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชีย จึงขอให้อาณาจักรเหล่านั้นส่งขันทีเข้ามา —–ขันทีจากนอกแคว้นเป็นขันทีในวังตั้งแต่เยาว์วัย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ภาษาสื่อสารหรือการใช้ชีวิตก็จะปรับตัวเข้ากับคนจีนได้ไว จากบันทึกประวัติศาสตร์พบว่าบางครั้งพวกเขาก็ลืมสถานะความเป็นชาวต่างชาติจนหมดสิ้น ทั้งนี้สถานะของขันทีต่างชาติกับขันทีทั่วไปในจีนนั้นอยู่ในระดับล่างของสังคมเหมือนกัน การที่จะไต่เต้าขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งสูงๆ ได้อย่างพัคบุลฮวานั้นมีน้อยมาก ข้อดีของการมีขันทีชาวต่างชาติคือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแคว้นประเทศราชต่างๆ [1] โครยอ อ่านว่า โค-ระ-ยอ เรื่องโดย ดร.พิมพร วัฒนากมลกุล