ฮุ่ยจื่อ มิตรคู่ปรับของจวงจื่อ
ฮุ่ยจื่อ
เรื่องโดย กระบองเพชร
จวงจื่อ (莊子 ประมาณ 369-286 ปีก่อนคริสต์ศักราช) คือนักปรัชญาคนสำคัญแห่งลัทธิเต๋าของจีนยุคโบราณอันเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ในยุคนั้นยังมีนักปรัชญาร่วมสมัยอีกท่านนามว่า ฮุ่ยจื่อ (惠子 ประมาณ 370 – 310 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นสหายของจวงจื่อแต่กลับไม่ได้เป็นที่รู้จักกันมาก หลายคนอาจเคยทราบเรื่องฮุ่ยจื่อบ้างผ่านการอ่านนิทานปรัชญาของจวงจื่อ
จวงจื่อได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับฮุ่ยจื่อซึ่งสะท้อนแนวคิดทางปรัชญาของฮุ่ยจื่อผ่านความสัมพันธ์ฉันมิตรและภายหลังศิษย์ของจวงจื่อก็รวบรวมเนื้อหาเหล่านี้ไว้ในหนังสือเรื่อง “จวงจื่อ”《莊子》
หนังสือจวงจื่อ
เล่ากันว่า จวงจื่อผู้รักสันโดษมีสหายเพียงคนเดียวคือฮุ่ยจื่อ ซึ่งนามนี้ปรากฏหลายครั้งในงานนิพนธ์ของจวงจื่อ การที่ฮุ่ยจื่อคบหาเป็นสหายกับจวงจื่อจอมปราชญ์ได้นั้น ท่านย่อมไม่ใช่บุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างแน่นอน
ฮุ่ยจื่อ มีนามจริงว่า ฮุ่ยซือ (惠施) เป็นชาวรัฐซ่ง (宋國 ปัจจุบันคือเมืองซางชิว มลฑลเหอหนาน 河南商丘) เช่นเดียวกันกับจวงจื่อ ทั้งสองมีชีวิตอยู่ในช่วงกลางของยุคจั้นกั๋ว (戰國 475 – 221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นยุคแห่งความแตกแยก แม้ยังอยู่ในอำนาจปกครองของราชวงศ์โจว ( 周朝 1,046 – 256 ปีก่อนคริสต์ศักราช ) ทว่าราชสำนักโจวเริ่มเสื่อมอำนาจลง เจ้าผู้ครองนครรัฐแต่ละรัฐต่างตั้งตัวเป็นอิสระ ซ่องสุมกำลังพลเพื่อแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจแห่งจงหยวน (中原) [1] เนื่องจากราชสำนักส่วนกลางขาดแสนยานุภาพที่เข้มแข็ง เป็นเหตุให้เกิดสงครามแย่งชิงดินแดนระหว่างนครรัฐ สังคมจึงตกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย ในเวลานั้นผู้คนต่างต้องการแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดให้สังคม บรรดาปัญญาชนจึงร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอวิธีการแก้ปัญหาตามแนวคิดของตน จวงจื่อมุ่งเน้นแนวทางการเมืองตามปรัชญา “ฟ้ากับมนุษย์รวมเป็นหนึ่งเดียว” (天人合一) สนับสนุนการปกครองที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ เรียกว่า “อู๋เหวยจือจื้อ” (無為之治 ปกครองแบบไม่ปกครอง) ส่วนฮุ่ยจื่อมีความคิดทางการเมืองเชิงรุก โดยเรียกร้องและสนับสนุนให้นครรัฐน้อยใหญ่รวมพลังต่อต้านรัฐฉิน (秦 221 – 207 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
การโต้แย้งหาวเหลียง
ฮุ่ยจื่อเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสำนักนามวาที หรือ นามนิยม (名家) ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งสำนักคิดที่มีชื่อเสียงในสมัยจั้นกั๋ว จึงกลายเป็นที่รู้จักในด้านตรรกวิทยาว่าด้วยการคิดหาเหตุผลของการนิยามคำศัพท์ต่างๆ ชวนให้ใช้ปัญญาขบคิดไตร่ตรองเรื่องการใช้ถ้อยคำอย่างรอบคอบ และวิเคราะห์แยกแยะอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งเพื่อให้คำนิยามกับความเป็นจริงสอดคล้องกัน สำนักนี้ให้กำเนิด “นักโต้คารม” ผู้โด่งดังหลายท่าน เช่น กงซุนหลง (公孫龍 320-250 ปีก่อนคริสต์ศักราช), เติ้งซี (鄧析 369-286 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นต้น
ฮุ่ยจื่อมีแนวคิดทางปรัชญาผิดแผกกับกงซุนหลง แม้ว่าทั้งสองเป็น “นักโต้คารม” ในสำนักคิดเดียวกัน ทว่าต่างคนต่างมีมุมมองเฉพาะตัวในการแยกแยะและตีความองค์ประกอบพื้นฐาน จึงนำไปสู่การโต้แย้งอย่างจริงจังจนต้องแบ่งความคิดของทั้งสองออกให้เป็นสองกระแส นักวิชาการเรียกทฤษฎีของฮุ่ยจื่อซึ่งเน้นความเป็นองค์รวม[2] ว่า เหอถงอี้ (合同异) และเรียกทฤษฎีของกงซุนหลงว่า หลีเจียนไป๋ (离坚白) โดยเน้นการวิเคราะห์ แยกแยะสรรพสิ่งจากความรู้สึก การรับรู้ และนิยามความหมาย
ฮุ่ยจื่อกับจวงจื่อเองก็มีประเด็นถกกันอยู่เนืองๆ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ประเทืองปัญญาดังเช่นเรื่อง การโต้แย้งหาวเหลียง (濠梁之辯) ความมีอยู่ว่า วันหนึ่งจวงจื่อกับฮุ่ยจื่อเดินเที่ยวบนสะพานข้ามแม่น้ำหาว (濠水) ระหว่างนั้นจวงจื่อมองเห็นปลาในแม่น้ำ จึงกล่าวว่า “ปลาว่ายน้ำอย่างอิสระและผ่อนคลาย นี่ก็คือความสุขของปลา”
ฮุ่ยจื่อถามว่า “ท่านไม่ใช่ปลา เหตุใดท่านทราบว่าปลามีความสุข”
จวงจื่อตอบว่า “ท่านไม่ใช่ข้า ท่านทราบได้อย่างไรว่าข้าไม่หยั่งรู้ความสุขของปลา”
ฮุ่ยจื่ออธิบายว่า “ข้าไม่ใช่ท่าน จึงไม่ทราบความรู้สึกของท่าน ท่านไม่ใช่ปลา ท่านจึงไม่อาจหยั่งรู้ความสุขของปลา นี่เป็นสิ่งที่เข้าใจได้”
จวงจื่อพูดสวนทันควันว่า “โปรดย้อนไปยังประเด็นแรกซึ่งเราเริ่มต้นสนทนา เมื่อท่านตั้งคำถามในทำนอง ‘เหตุใดท่านทราบว่าปลามีความสุข’ นั่นก็คือคำถามที่อิงสมมติฐานว่า ท่านรับรู้แล้วว่าข้าหยั่งรู้ความสุขของปลา หากถามว่าทราบมาจากที่ไหน ขอบอกว่า ข้าทราบจากริมแม่น้ำนี่แหละ”
เรื่องนี้มีบันทึกไว้ในหนังสือ “จวงจื่อ สายน้ำแห่งฤดูใบไม้ร่วง” 《庄子.秋水篇》 โดยฮุ่ยจื่อหยิบยกประโยคที่ว่า “子非魚安知魚之樂” (คุณไม่ใช่ปลา คุณทราบความสุขของปลาได้อย่างไร) เพื่อสื่อสารความคิดเชิงตรรกะว่า “คุณไม่ใช่บุคคลที่คุณกำลังพูดถึง คุณจะทราบความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้นได้อย่างไร” ทุกวันนี้คนจีนมักใช้ประโยคดังกล่าวสอนสั่งหรือตักเตือนว่า “ไม่ควรตัดสินคนอื่นด้วยมุมมองหรือความคิดของตัวเอง” หลักคิดของจวงจื่อนี้คล้ายคำสอนของขงจื่อ (孔子 551-479 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่ว่า “สิ่งที่ตนไม่ปรารถนา จงอย่าปฏิบัติต่อผู้อื่น” (己所不欲,勿施於人)
ฮุ่ยจื่อรับราชการและดำรงตำแหน่งใหญ่เป็นถึงมหาเสนาบดีแห่งรัฐเว่ย ด้วยความคิดทางการเมืองเชิงรุกจึงได้รับการเคารพและยกย่องจากแวดวงราชการของรัฐต่างๆ ทว่ากลับถูกจวงจื่อเขียนบทความตำหนิเสียดสีอย่างรุนแรงในเรื่อง “ฮุ่ยจื่อรับตำแหน่งมหาเสนาบดี ณ เมืองเหลียง ” (惠子相梁) จวงจื่อกล่าวถึงฮุ่ยจื่อผ่านนิทานเปรียบเทียบระหว่าง “นกออก” (鴟) กับ “นกหงส์” (鳳凰) ไว้ดังนี้
ฮุ่ยจื่อรับตำแหน่งมหาเสนาบดีที่รัฐเว่ย จวงจื่อจึงเดินทางไปเยี่ยมเยือนในฐานะสหาย
มีคนบอกฮุ่ยจื่อว่า “จวงจื่อจะมาแย่งตำแหน่งจากท่าน”
ฮุ่ยจื่อฟังแล้วตกใจ ออกคำสั่งให้ค้นหาจวงจื่อไปทั่วเป็นเวลาสามวันสามคืน
แต่แล้ว จู่ๆ จวงจื่อก็โผล่มาอยู่ต่อหน้าฮุ่ยจื่อ กล่าวอย่างสงบว่า “ทางใต้มีนกชนิดหนึ่งคล้ายหงส์ นามว่ายวนฉู (鵷鶵) ท่านเคยได้ยินได้ฟังไหม เมื่อยวนฉูกางปีกออกแล้วบินจากทะเลใต้ไปยังทะเลเหนือ ระหว่างทางถ้าไม่พบต้นอู๋ถงที่สูงเด่นเป็นสง่าจะไม่เกาะพัก ถ้าไม่เจอผลไผ่อันหายากจะไม่จิกกิน และถ้าไม่ใช่น้ำบริสุทธิ์ก็จะไม่ดื่ม วันหนึ่งนกออกตัวหนึ่งเสาะพบซากหนูตายเหม็นเน่า มันแหงนหน้าเห็นนกยวนฉูบินผ่านมาพอดี จึงจ้องมองอย่างระวังระไวทั้งยังส่งเสียงขับไล่ ‘ชิ่วๆ ’ เฉกเช่นตอนนี้ที่ท่านกำลังใช้อำนาจมหาเสนาบดีของรัฐเว่ยมาข่มขู่เพื่อขับไล่ข้าใช่หรือไม่?”
ด้วยปราชญ์ทั้งสองมีอุดมการณ์อันแตกต่างกัน จวงจื่อเปรียบตัวเองเป็นนกยวนฉูซึ่งคล้ายหงส์ มีอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่และสายตายาวไกล ตรงข้ามกับฮุ่ยจื่อผู้ลุ่มหลงยศถาบรรดาศักดิ์เปรียบเสมือนนกออกซึ่งให้ค่าแก่หนูตายที่เน่าเหม็น
ครั้นเว่ยฮุ่ยอ๋อง (魏惠王400-319 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ขึ้นครองราชย์ ฮุ่ยจื่อถูกขับออกจากรัฐเว่ย เพราะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองกับจางอี๋ (張儀 ปีเกิดไม่แน่ชัด – 309 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ขุนนางคนโปรดของเจ้าครองรัฐเว่ย หลังออกจากรัฐเว่ย ฮุ่ยจื่อจึงเดินทางไปยังรัฐฉู่ แล้วกลับไปรัฐซ่งอันเป็นภูมิลำเนา ทำให้มีโอกาสบ่อยครั้งที่ได้ถกประเด็นต่างๆ กับจวงจื่อเหมือนในอดีต
ฮุ่ยจื่อกับจวงจื่อต่างมีภูมิปัญญาอันลึกล้ำและทัดเทียมกัน แม้ว่าจวงจื่อจะเลือกแนวทาง “ไม่กระทำ” (無為) ส่วนฮุ่ยจื่อเลือกยึดแนวทาง “ต้องกระทำ” (有為) ตลอดชีวิตของฮุ่ยจื่อได้ทุ่มเทกำลังความคิดเพื่องานด้านการเมือง ท่านกลับไปรับตำแหน่งมหาเสนาบดีที่รัฐเว่ยอีกครั้งในบั้นปลายชีวิต จึงถูกจวงจื่อเหน็บแนมวิพากษ์วิจารณ์ว่า ฮุ่ยจื่อให้คุณค่าแก่สิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรี มากกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น คุณงามความดี
ฮุ่ยจื่อถามจวงจื่อ “มนุษย์อย่างเราไร้อารมณ์ความรู้สึก (無情) ใช่หรือไม่?”
จวงจื่อตอบ “ใช่”
ฮุ่ยจื่อถามอีก “หากไร้อารมณ์ความรู้สึก เช่นนั้นยังจะเรียกว่ามนุษย์ได้หรือไม่?”
จวงจื่อชี้แจง “ได้ เต๋า[3] ให้มนุษย์ปรากฏรูปโฉมลักษณะ ฟ้าให้มนุษย์ปรากฏรูปร่างสังขาร ถ้าไม่เรียกว่ามนุษย์แล้วจะเรียกว่าอะไร?”
ฮุ่ยจื่อทักท้วง “ในเมื่อเรียกว่ามนุษย์ ก็ควรมีอารมณ์ความรู้สึก แล้วจะบอกว่าไร้อารมณ์ความรู้สึกได้อย่างไร?”
จวงจื่อโต้ “อารมณ์ที่ท่านกำลังพูดถึงคืออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ (人情) ซึ่งหมายถึง ความดีใจ ความโกรธ ความเศร้าโศก ความสุข ความชอบ หรือไม่ชอบฯลฯ สิ่งเหล่านี้ยังผลกระทบและทำให้เสียหายแก่ตัวตน แต่อารมณ์ความรู้สึกที่ข้าพูดถึงคือ อารมณ์ความรู้สึกของธรรมชาติ มันเป็นไปตามวัฏจักรของธรรมชาติ ซึ่งปราศจากผลของความคิด หรือการตระหนักว่ามีหรือไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์”
ฮุ่ยจื่อแย้ง “หากอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ไม่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต สิ่งนั้นจะอยู่ในร่างกายของมนุษย์ได้อย่างไร?”
จวงจื่ออธิบาย “มนุษย์นี่หนา เต๋าประทานให้มีรูปลักษณ์โฉมหน้า และฟ้าประทานให้มีรูปสังขาร แค่นี้ก็เพียงพอ อารมณ์ความรู้สึกแบบชอบหรือไม่ชอบ ล้วนแต่เกิดจากสิ่งแปลกปลอมและการปรุงแต่ง ท่านอย่าเอามาใช้กับร่างกายเลย ไม่เช่นนั้นจะโดนสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นทำร้ายได้ ที่ท่านทำงานเหน็ดเหนื่อยอยู่ทุกวันนี้ งีบหลับคาต้นไม้อันเหี่ยวเฉา สวรรค์เลือกท่านให้ปรากฏแค่รูปสังขารเท่านั้น !”
เมื่อจวงจื่อเล่านิทานมักอ้างถึงฮุ่ยจื่อเพื่อนำเสนอความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ เช่นในเรื่อง “น้ำเต้ายักษ์” (大葫蘆) ฮุ่ยจื่อพูดกับจวงจื่อว่า: เมล็ดพันธุ์ที่เจ้าผู้ครองรัฐเว่ยประทาน ตอนนี้เติบใหญ่และให้ผลเป็นน้ำเต้าลูกโต แต่นำมาใช้การอะไรไม่ได้ จะใช้บรรจุน้ำก็อาจไม่แข็งแรงที่จะรองรับน้ำหนัก ถ้าผ่าครึ่งแล้วใช้เป็นภาชนะสำหรับตักน้ำก็คงไม่มีโอ่งเก็บน้ำใหญ่ขนาดนั้นมารองรับมันได้ แม้ว่าใหญ่ยักษ์แต่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ข้าจึงทุบมันทิ้งไป
จวงจื่อผู้ซึ่งมองว่าทุกสิ่งในโลกล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น จึงวิจารณ์ฮุ่ยจื่อด้วยการเล่านิทานเรื่องสูตรยารักษาผิวมือแห้งแตกของชาวรัฐซ่ง ว่าคนของตระกูลซ่งประกอบอาชีพซักล้างใยไหมจนค้นพบสูตรยารักษาผิวมือไม่ให้แห้งแตก พ่อค้าสัญจรได้สูตรยานี้มาแล้วนำไปถวายจนเจ้าผู้ครองรัฐอู๋ประทานที่ดินให้ แต่เจ้าของสูตรยาที่แท้จริงกลับยังคงซักล้างใยไหมต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน นี่แสดงว่า สิ่งสิ่งหนึ่งจะมีคุณค่าเพียงใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับผู้ครอบครอง ว่าจะมองเห็นประโยชน์และตระหนักถึงคุณค่าของมันหรือไม่ ลงท้าย จวงจื่อยังกล่าวตำหนิฮุ่ยจื่อว่า “ท่านช่างมีจิตใจคับแคบ ไม่อาจครอบครองของใหญ่ได้จริงๆ!”
ในแวดวงปรมาจารย์ทางปรัชญา การได้ลับสมองประลองปัญญากันถือเป็นความเคารพสูงสุด
ครั้งหนึ่ง จวงจื่อเข้าร่วมขบวนส่งศพ เมื่อผ่านสุสานของฮุ่ยจื่อ จวงจื่อจึงหยุดชั่วครู่และเล่านิทานให้ลูกศิษย์ฟังว่า มีชายท่านหนึ่งแต้มปูนขาวบางๆ ที่ปลายจมูก เขาเรียกให้ช่างหินใช้ขวานปาดออกทีละนิด ช่างหินถือขวานขึ้นมาควงรอบแล้วรอบเล่า ชายผู้นั้นยืนนิ่งไม่ไหวติง ปล่อยให้ขวานกวัดแกว่งไปเหมือนกังหันลมต่อหน้าต่อตา จนไม่มีร่องรอยของปูนขาวเหลืออยู่ที่ปลายจมูก ทว่าจมูกของเขากลับไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่นิดเดียว
เมื่อเล่าจบ จวงจื่อก็จ้องมองสุสานของฮุ่ยจื่อ ถอนหายใจยาว และปรารภว่า “ตั้งแต่ฮุ่ยจื่อจากไปก็ไม่เคยมีคู่ปรับที่มาเล่นเกมทาปูนสีขาวบนปลายจมูกกับข้าอีกเลย! จะมีใครมาโต้แย้งข้าอีก” ว่ากันว่าตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยปรากฏว่าจวงจื่อได้โต้คารมกับคนอื่นอีกเลย
สาเหตุที่แนวคิดทางปรัชญาของฮุ่ยจื่อไม่เป็นที่เลื่องลือเท่าจวงจื่อ นักวิชาการได้ให้คำตอบตรงกันว่า เป็นเพราะแนวคิดทางปรัชญาของฮุ่ยจื่อไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและสืบทอด ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ฮุ่ยจื่อวายชนม์ก่อนจวงจื่อราว 20 ปี นอกจากหนังสือ “จวงจื่อ” แล้ว ยังมีบันทึกความคิดของเขาใน
“สวินจื่อ“《荀子》 “หานเฟยจื่อ” 《韓非子》 “บันทึกประวัติศาสตร์ตระกูลหลี่ว์” 《呂氏春秋》ซึ่งจะยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงของนักปรัชญาผู้นี้
บันทึกประวัติศาสตร์ตระกูลหลี่ว์
[1] จงหยวน (中原) แปลว่า ภูมิกลาง หมายถึงดินแดนอันเป็นศูนย์กลางความเจริญ ซึ่งเดิมอยู่แถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห
มีมณฑลเหอหนานเป็นศูนย์กลาง ต่อมาได้ขยายอาณาเขตจนกินพื้นที่ภาคเหนือของจีนเป็นส่วนใหญ่
[2] องค์รวม คือ แนวความคิดว่าด้วยความเป็นจริงหรือความสมบูรณ์พร้อมของสรรพสิ่ง มีเอกลักษณ์และเอกภาพที่มิอาจแบ่งแยกเป็นส่วนย่อยได้
[3] เต๋า คือ道ชื่อเรียกแนวความคิด หรือ ลัทธิเต๋าของจีน ซึ่งยกย่องให้เล่าจื๊อ (老子571- 471ปีก่อนคริสต์ศักราช ) เป็นปฐมปรมาจารย์ของลัทธิ