—–เฉินซื่อเหม่ย’ (陳世美) เป็นชื่อแซ่ของบุรุษผู้หนึ่งในสังคมจีนยุคโบราณ ทว่าปัจจุบันนี้กลับกลายเป็นสรรพนามที่สื่อความหมายในเชิงลบ ใช้เรียกแทน ‘ผู้ชายเลวทรามซึ่งมีพฤติกรรมทรยศต่อภรรยาของตน’ เนื่องจากในระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา ชาวจีนได้นำเรื่องราวของเฉินซื่อเหม่ยมาประพันธ์เป็นบทละครงิ้ว และนำมาแสดงจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างกว้างขวางในหมู่ชนทุกระดับ

—–สังคมจีนทุกวันนี้ หากจะพูดถึงผู้ชายที่มีพฤติกรรมทอดทิ้งลูกเมีย ชาวบ้านทั่วไปมักจะประณามพฤติกรรมเลวทรามเช่นนี้ด้วยการหยิบยกชื่อเฉินซื่อเหม่ยมาเป็นตัวอย่าง และพูดเปรียบเปรยเป็นเสียงเดียวกันว่า “คนนี้แหละคือเฉินซื่อเหม่ย” ด้วยต้องการประจานถึงการกระทำอันชั่วร้ายของชายคนดังกล่าว ดังนั้น เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับ ‘เฉินซื่อเหม่ย’ จึงมีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความคิดความอ่าน และค่านิยมของชาวจีนตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

เฉินซื่อเหม่ยและฉินเซียงเหลียนในละครโทรทัศน์เรื่อง ‘เปาบุ้นจิ้น’ ที่คนไทยคุ้นเคย

—–ความจริงแล้วคนไทยก็มีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวของเฉินซื่อเหม่ยเช่นกัน เมื่อเอ่ยถึง ‘ราชบุตรเขย’ ในละครโทรทัศน์เรื่อง ‘เปาบุ้นจิ้น ตอน คดีประหารราชบุตรเขย’ 《包青天之鍘美案》 เชื่อว่าหลายท่านคงจะถึงบางอ้อว่า ที่แท้ราชบุตรเขยก็คือเฉินซื่อเหม่ยนั่นเอง ในฉบับละครโทรทัศน์เรื่องนี้ มีเนื้อเรื่องเล่าว่า ราชบุตรเขยนามว่าเฉินซื่อเหม่ยเดิมมีฐานะยากจน ใช้ชีวิตในชนบทโดยอาศัยอยู่ในบ้านซอมซ่อหลังหนึ่งกับภรรยานามว่าฉินเซียงเหลียน (秦香蓮) ถึงแม้จะมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก แต่ทั้งคู่ก็รักและดูแลซึ่งกันและกันมาโดยตลอด

—–ฉินเซียงเหลียนเสียสละด้วยการทำงานแบกรับภาระหาเลี้ยงทั้งครอบครัวโดยลำพัง มุ่งมั่นส่งเสริมให้เฉินซื่อเหม่ยศึกษาเล่าเรียนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี เพื่อเดินทางเข้าเมืองไปสอบจอหงวน ภายหลังเฉินซื่อเหม่ยสอบได้จอหงวน และได้รับการทาบทามให้เป็นราชบุตรเขย บัณฑิตเนื้อหอมคนนี้ไม่ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง จึงเลิกติดต่อกับภรรยาที่บ้านทันที

—–หลังจากฉินเซียงเหลียนไม่ได้รับการติดต่อจากสามีเป็นเวลานาน เธอจึงพาลูกๆ เข้าเมืองเพื่อตามหาเฉินซื่อเหม่ยด้วยความเป็นห่วง แต่เมื่อได้เจอหน้าสามี เฉินซื่อเหม่ยกลับแสร้งทำเป็นไม่รู้จักกัน และสั่งให้เจ้าหน้าที่ขับไล่สามแม่ลูกออกจากจวนโดยอ้างว่าเป็นพวกแก๊งยาจกหมายจะมารีดไถ ภายหลังเฉินซื่อเหม่ยเกิดครั่นคร้ามเกรงว่าเรื่องนี้อาจจะแดงขึ้นมาจนไปเข้าหูฮ่องเต้ จึงส่งองครักษ์หานฉี (韓琪) ตามไปสังหารสามแม่ลูกกลางดึก แต่เมื่อหานฉีซักถามฉินเซียงเหลียนจนรู้ความจริง ใจหนึ่งก็เกิดความเห็นอกเห็นใจจนไม่อาจลงมือสังหารสามแม่ลูกผู้น่าสงสารได้ อีกใจหนึ่งก็สำนึกความผิดฐานขัดขืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา สุดท้ายหานฉีจึงตัดสินใจเชือดคอตัวเองเพื่อชดใช้ความผิด แต่กำชับให้ฉินเซียงเหลียนเก็บมีดเล่มที่มีตราประทับของจวนราชบุตรเขยนี้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานฟ้องศาลเอาผิดราชบุตรเขย ทว่ายังไม่ทันได้ไปร้องเรียนหาความยุติธรรม ฉินเซียงเหลียนก็กลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ลงมือสังหารองครักษ์หานฉีเสียเอง นางถูกจับตัวส่งไปที่ว่าการอำเภอ ต่อมานายอำเภอเข้าพบราชบุตรเขยและเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง เฉินซื่อเหม่ยจึงวางแผนสังหารนางอีกครั้ง โดยสั่งให้นายอำเภอเนรเทศนางไปยังชายแดน ระหว่างทางก็ให้ผู้คุมลงมือสังหารทิ้ง โชคดีที่จั่นเจา (展昭) องครักษ์ของท่านเปาบุ้นจิ้นเข้ามาช่วยไว้ทัน หลังจากรายงานเรื่องราวทั้งหมดกับท่านเปาแล้ว จั่นเจาจึงเดินทางไปยังภูมิลำเนาของเฉินซื่อเหม่ยและฉินเซียงเหลียนเพื่อตามหาพยานบุคคล จนได้พบสามีภรรยาตระกูลฉีซึ่งเป็นพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์และรู้จักเฉินซื่อเหม่ยเป็นอย่างดี ในที่สุดท่านเปาบุ้นจิ้นก็คลี่คลายคดีอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนนี้ได้ ถึงแม้องค์หญิงกับฮองเฮาต่างพากันไปขัดขวาง แต่เปาบุ้นจิ้นผู้พิทักษ์ความยุติธรรมก็ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจอิทธิพลแต่อย่างใด จึงพิพากษาประหารราชบุตรเขยเฉินซื่อเหม่ยด้วยเครื่องประหารหัวมังกร

เฉินซื่อเหม่ยและเปาบุ้นจิ้น

—–จากข้อมูลเอกสารที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นได้รวบรวมไว้พบว่า เฉินซื่อเหม่ยมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่เรื่องราวใน ‘คดีประหารราชบุตรเขย’ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ ‘อุปโลกน์’ ขึ้นมาเพื่อการแสดงงิ้วเท่านั้น

—–‘สารานุกรมบุคคลในประวัติศาสตร์มณฑลหูเป่ย’ มีการบันทึกว่า เฉินซื่อเหม่ย ข้าราชสำนักในสมัยราชวงศ์ชิง (清 ค.ศ.1616-1912) ชื่อเดิมเฉินเหนียนกู่ (陳年谷) มีอีกชื่อคือสูเหม่ย (熟美) เป็นคนจวินโจว (均州 ปัจจุบันคือเมืองตานเจียงโข่ว 丹江口) เกิดในตระกูลขุนนาง ในสมัยต้นราชวงศ์ชิงเขาออกไปแสวงหาความรู้ที่เมืองหลวง และสอบได้เป็นบัณฑิตในรัชศกซุ่นจื้อ (順治) ปีที่ 8 (ค.ศ. 1651) หลังจากได้เป็นบัณฑิตแล้ว ช่วงแรกดำรงตำแหน่งนายอำเภอในแถบมณฑลเหอเป่ย (河北) ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการประจำมณฑลกุ้ยโจว (貴州) ควบกับตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน

—–เฉินซื่อเหม่ยเป็นขุนนางที่ดีและตรงไปตรงมาคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ส่วนภรรยาในชีวิตจริงชื่อฉินซินเหลียน (秦心蓮) เป็นภรรยาคนที่สองที่แต่งเข้ามาเนื่องจากภรรยาคนแรกของเขาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ หลังแต่งงานแล้วก็อยู่ด้วยกันอย่างรักใคร่กลมเกลียวจนแก่เฒ่า

—–จากเรื่องเล่าของชาวบ้านในท้องถิ่นและศิลาจารึกเกี่ยวกับเฉินซื่อเหม่ยที่ค้นพบในปี ค.ศ. 1992 ที่เมืองตานเจียงโข่ว มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ‘เฉินซื่อเหม่ยเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์สุจริตเข้าใจทุกข์สุขของประชาชน’ ขุนนางที่ดีเช่นนี้ เพราะเหตุใดจึงถูกกล่าวหาอย่างหนักหนาสาหัส น่าจะต้องมีความจริงเบื้องหลังที่ถูกปิดบังไว้

—–เล่ากันว่า ช่วงที่เฉินซื่อเหม่ยเป็นขุนนาง มีเพื่อนจำนวนมากมาฝากตัวเพื่อขอเป็นขุนนาง ระยะแรกเขาก็ให้การต้อนรับและแนะนำให้ขยันหมั่นเพียรหาความรู้รวมทั้งช่วยให้ได้เข้าเป็นขุนนาง แต่เนื่องจากคนที่มาฝากตัวมากขึ้นทุกวันและบางรายขาดคุณสมบัติ จึงกำชับพ่อบ้านให้ปฏิเสธคนเหล่านั้นทั้งหมด

บันทึกผีผา

—–หูเมิ่งเตี๋ย (胡梦蝶) เพื่อนร่วมโรงเรียนเก่า เคยเข้าเมืองหลวงไปสอบพร้อมกับเฉินซื่อเหม่ย และเคยให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินทองแก่เฉินซื่อเหม่ย วันหนึ่งได้พาโฉวเมิ่งหลิน (仇夢麟) เพื่อนร่วมโรงเรียนอีกคนไปหาเฉินซื่อเหม่ยเพื่อให้ช่วยเข้าเป็นขุนนาง แต่หลังจากถูกพ่อบ้านปฏิเสธ หูเมิ่งเตี๋ยและโฉวเมิ่งหลินรู้สึกเจ็บแค้นอย่างยิ่ง จึงแก้แค้นด้วยการนำโครงเรื่อง ‘บันทึกผีผา[1] (琵琶记) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นงิ้วเรื่องใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อนักแสดงนำชายที่หลงลืมบุญคุณเป็นเฉินซื่อเหม่ย และเปลี่ยนชื่อตัวละครหญิงเป็นฉินเซียงเหลียน แล้วจ้างให้คณะงิ้วนำไปแสดง คาดไม่ถึงว่าบทงิ้วใหม่นี้กลับได้รับความนิยมและถูกนำไปแสดงอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เช่น เหอหนาน (河南) ส่านซี (陝西) และหูเป่ย (湖北) เฉินซื่อเหม่ยจึงกลายเป็นคนเลวทราบต่ำช้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

—–อีกประเด็นที่น่าสงสัยคือ เปาบุ้นจิ้นซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ. 960-1279) จะไปประหารบัณฑิตที่มีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์ชิงซึ่งห่างกันหลายร้อยปีได้อย่างไร บุคคลที่มีชีวิตอยู่คนละยุคสมัยจะมาปรากฏในฉากเดียวกันได้อย่างไร

ฉินเซียงเหลียนบรรเลงผีผา

—–เชื่อกันว่า ที่มาของการดึงตัวละครข้ามยุคมาอยู่ร่วมกันเกิดจากเหตุการณ์หนึ่งในสมัยราชวงศ์ชิง ระหว่างการจัดพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวันที่ 16 ซึ่งตรงกับวันไหว้เจ้าตามธรรมเนียมจีนนั้น มีการแสดงงิ้วสองเรื่อง เรื่องแรกคือ ‘เปาบุ้นจิ้น’ เมื่อแสดงจบก็ต่อด้วยเรื่อง ‘ฉินเซียงเหลียนบรรเลงผีผา’ (秦香蓮抱琵琶) ซึ่งเป็นบทงิ้วที่แปลงให้เฉินซื่อเหม่ยกลายเป็นคนชั่วแล้ว การแสดงในเรื่องเน้นการขับร้องเพื่อระบายความอัดอั้นของฉินเซียงเหลียงที่มีต่อสามีผู้ทรยศอย่างเฉินซื่อเหม่ย วันนั้นมีคนเข้ามาดูงิ้วเป็นจำนวนมาก การแสดงยอดเยี่ยมและเนื้อเรื่องกินใจจนผู้ชมโกรธเคืองสุดขีดต่างตะโกนซ้ำๆ เป็นเสียงเดียวกันว่า “ฆ่าเฉินซื่อเหม่ยซะ!” พองิ้วจบก็ยังไม่ยอมกลับ รวมกลุ่มประท้วงต่อที่หน้าเวที เรียกร้องให้แสดงฉากที่ประหารเฉินซื่อเหม่ย มิฉะนั้นก็จะทุบเวทีทิ้ง หัวหน้าคณะไม่รู้จะทำอย่างไร ขณะนั้นเห็นนักแสดงผู้เล่นบทเปาบุ้นจิ้นซึ่งยังไม่ได้ล้างหน้ากำลังนั่งพักผ่อน จึงเดินเข้าไปร้องขอให้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าว

—–นักแสดงผู้นั้นแย้งว่า “คุณบ้าไปแล้วเหรอ ฉันอยู่ราชวงศ์ซ่ง เฉินซื่อเหม่ยอยู่ราชวงศ์ชิง ห่างกันหลายร้อยปี จะให้ขึ้นไปแสดงด้วยกันได้อย่างไร”

—–“เรื่องมาถึงขั้นนี้แล้ว ไม่ต้องสนใจราชวงศ์แล้ว” หัวหน้าคณะขอร้องและอ้างเหตุว่า “เฉินซื่อเหม่ยเป็นราชบุตรเขยมีอำนาจบาตรใหญ่ขนาดนั้น จะมีใครบังอาจไปสังหารเขาได้ ถ้าไม่ใช่ ‘ท่านเปา’ ผู้มีจิตใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ถ้าวันนี้ประหารเฉินซื่อเหม่ยได้ คงทำให้ผู้ชมระบายความโกรธแค้นได้ไม่น้อย เท่านี้ก็ปิดม่านได้แล้ว”

เฉินซื่อเหม่ยในละครงิ้ว

—–นักแสดงผู้นั้นจำเป็นต้องแต่งองค์ทรงเครื่องเปาบุ้นจิ้นใหม่ และพาองครักษ์ทั้งสี่ ได้แก่ หวางเฉา (王朝) หม่าฮั่น (馬漢) จางหลง (張龍) และจ้าวหู่ (趙虎) ขึ้นเวทีแสดงแบบด้นสดด้วยไหวพริบปฏิภาณของมืออาชีพ เมื่อได้เห็นท่านเปาประหารชีวิตเฉินซื่อเหม่ย เหล่าผู้ชมก็โห่ร้องด้วยความดีใจ หลังจากนั้นงิ้วสั้นเรื่อง ‘ฉินเซียงเหลียนบรรเลงผีผา’ ก็พัฒนาจนกลายมาเป็นเรื่อง ‘คดีประหารเฉินซื่อเหม่ย’ หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่อ ‘คดีประหารราชบุตรเขย’ ที่สมบูรณ์ด้วยพล็อตเรื่องและตัวละครเฉินซื่อเหม่ยผู้ชั่วช้าสามานย์ หลอกลวงฮ่องเต้ ทอดทิ้งพ่อแม่ ฆ่าลูกฆ่าเมีย สุดท้ายก็ถูกเปาบุ้นจิ้นผู้ทรงธรรมสำเร็จโทษ ตลอดเวลาสองร้อยกว่าปีมานี้ เฉินซื่อเหม่ยจึงถูกผู้คนเกลียดชังไปทั่วสังคมจีน

เฉินซื่อเหม่ยกับลูกทั้งสอง

—–อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวจริงของเฉินซื่อเหม่ยจะเป็นขุนนางดีในประวัติศาสตร์ รวมทั้งไม่ได้รับการยกย่องอย่างเป็นธรรม แต่ตัวละครทั้งเฉินซื่อเหม่ยและฉินเซียงเหลียนได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และคงความมีชีวิตชีวาบนเวทีงิ้ว โดยเฉพาะตัวละครฉินเซียงเหลียนนั้นสะท้อนถึงการตื่นตัวในเรื่องสิทธิของตนเอง กล้านำเรื่องร้องเรียนต่อศาล กล้ารักกล้าเกลียด แยกแยะความดี ความชั่ว ความรัก ความเกลียดชังได้อย่างชัดเจน นับเป็นผู้หญิงที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง ภาพลักษณ์นี้ส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนที่มีชีวิตทำนองเดียวกันกับฉินเซียงเหลียนกล้าที่จะลุกขึ้นต่อสู้ ส่วนบทละครงิ้วเรื่อง ‘คดีประหารราชบุตรเขย’ ข้ามเวลาไปนำเปาบุ้นจิ้นมาช่วยพิจารณาคดี สะท้อนให้เห็นถึงกระแสเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านทั่วไปในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งต้องการ ‘ลงโทษคนเลวยกย่องคนดี’ อย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม

 

[1] ผีผา คือ เครื่องดนตรีจีนประเภทเครื่องสายชนิดหนึ่ง มีรูปทรงคล้ายกีตาร์ของตะวันตก

 

เรื่องโดย เฉินเป่า