—–พุทธศาสนาแบ่งออกเป็นหลายนิกาย บางคนคุ้นเคยกับการเรียกว่า ‘เถรวาท-อาจริยวาท’ บางคนคุ้นเคยกับ ‘หินยาน-มหายาน’ อย่างไรก็ดีทั้งหมดล้วนถือกำเนิดจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปเมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้วทั้งสิ้น แต่เหตุที่มีชื่อเรียกหลากหลายเกิดจากมุมมองซึ่งแตกต่างกัน

—–คนไทยมักเรียกตัวเองว่าชาวพุทธเถรวาท การเรียกเช่นนี้เป็นการแบ่งโดยยึดการตีความพุทธบัญญัติและพระธรรมวินัยเป็นเกณฑ์ ‘เถรวาท’ หมายถึง วาทะของพระเถระ คือฝ่ายที่ยึดถือแนวปฏิบัติแบบเดียวกับครั้งพุทธกาล ไม่มีการเพิกถอน เพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสิกขาบทใดๆ ต่อมาเมื่อมีการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 2 (ราว 444 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้เกิดแนวคิดที่เห็นต่างออกไป โดยมองว่าธรรมวินัยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามเวลาและสถานการณ์เพื่อให้ศาสนาพุทธอยู่รอด แนวคิดดังกล่าวจึงเริ่มก่อตัวและแตกสายออก ฝ่ายเถรวาทเรียกนิกายใหม่นี้ว่า ‘อาจริยวาท’ อันหมายถึง วาทะของอาจารย์ หลังจากนั้นทั้งสองนิกายก็ได้แตกย่อยไปอีกหลายกลุ่มและเผยแผ่ออกไปยังดินแดนต่างๆ

—–ส่วนพุทธศาสนาที่เข้าสู่ประเทศจีนเป็นนิกายอาจริยวาท แต่คนจีนนิยมเรียกตัวเองว่าชาวพุทธมหายาน คำว่า ‘มหายาน’ หมายถึง ยานหรือพาหนะขนาดใหญ่ ที่นำพาสรรพสัตว์ให้ก้าวพ้นทะเลแห่งทุกข์ไปได้ทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็เรียกฝ่ายที่ไม่ใช่มหายาน (ฝ่ายเถรวาท) ในเชิงเปรียบเทียบกึ่งเหน็บแนมว่า ‘หีนยาน’ หมายถึงยานหรือพาหนะขนาดเล็กที่มุ่งแต่เพียงบำเพ็ญตนเพื่อให้สำเร็จอรหันต์

—–พุทธศาสนามหายานเผยแผ่เข้าสู่ประเทศจีนสมัยใด ปัจจุบันยังคงมีความเชื่อหลายกระแส ทว่าข้อมูลที่ได้รับการยอมรับจากเหล่านักวิชาการมากที่สุดคือสมัยราชวงศ์ฮั่น (漢 206 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ.220) รัชสมัยฮ่องเต้ฮั่นอัยตี้ (漢哀帝) ซึ่งอ้างอิงจากเชิงอรรถในจดหมายเหตุสามก๊ก ตอนจดหมายเหตุรัฐเว่ย บทบันทึกตงอี๋[1] 《三國志•魏志•東夷傳》ความว่า ‘รัชสมัยฮ่องเต้ฮั่นอัยตี้ สมณะทูตแห่งแคว้นต้าโร่วจือ[2]  (大月氏) นามว่า อีฉุน (伊存) ได้แสดงธรรมเรื่องพุทธประวัติให้แก่จิ่งหลู (景盧) ทูตแห่งราชสำนักฮั่น’ จากหลักฐานข้างต้นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พุทธศาสนาบนแผ่นดินจีน

คณะทูตภายใต้การนำของไช่อิน

—–ต่อมาในรัชสมัยฮ่องเต้ฮั่นหมิงตี้ (漢明帝 ค.ศ. 28 – 75) ได้ส่งคณะทูตภายใต้การนำของไช่อิน (蔡愔) ไปยังชมพูทวีปเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ไช่อินและคณะทูตใช้เวลาร่วม 3 ปีก็เดินทางกลับมาพร้อมภิกษุอีก 2 รูป คือพระกัศยปมาตันคะ (迦葉摩騰) และพระธรรมรัตน์โคภรณ์ (竺法蘭) นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปและพระคัมภีร์ซึ่งบรรทุกมาบนหลังม้าสีขาวอีกจำนวนหนึ่ง ต่อมาในปี ค.ศ. 68 ฮ่องเต้ฮั่นหมิงตี้โปรดให้สร้างวัดพุทธแห่งแรกบนแผ่นดินจีนขึ้นที่ชานเมืองลั่วหยาง (洛陽) สำหรับเป็นที่พักของภิกษุทั้ง 2 รูปและเป็นที่เก็บพระคัมภีร์ มีชื่อว่า ‘วัดม้าขาว’ (白馬寺) เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ม้าขาวที่บรรทุกพระคัมภีร์มายังแผ่นดินจีนนั่นเอง

วัดม้าขาว

—–การเข้ามาของพุทธศาสนา ไม่เพียงแต่เป็นการถ่ายทอดแนวคิดและคำสอน งานพุทธศิลป์ก็ได้รับอิทธิพลด้วยเช่นกัน ระยะแรกศิลปะแขนงต่างๆ ยังคงรูปแบบเดิมจากอินเดียซึ่งเป็นศิลปะแบบคันธาระ[3] เช่น การสร้างพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์กลมแป้น พระนาสิกสูงโด่ง พระโอษฐ์บางเรียวแบบชาวตะวันตก พระวรกายใหญ่โตดูสง่างาม ด้านสถาปัตยกรรมนิยมสร้างสถูปทรงกลมโดยใช้ดินเป็นวัสดุหลัก ต่อมาจึงค่อยๆ ซึมซับวัฒนธรรมจีนกลายเป็นวิหารไม้ที่มีต้นแบบมาจากเก๋งจีนนั่นเอง

พระพุทธรูปศิลปะแบบคันธาระ

—–ในสมัยราชวงศ์เว่ยจิ้น (魏晉ค.ศ. 220-420) และสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (南北朝 ค.ศ.420-589) ผลงานทางพุทธศาสนาที่โดดเด่นคือของการแปลคัมภีร์จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน เกิดนักแปลที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น พระธรรมรักษ์ (竺法護 ค.ศ. 231-308) ภิกษุชาวเอเชียกลางผู้มีความสามารถด้านภาษาอย่างแตกฉาน และพระกุมารชีพ (鳩摩羅什 ค.ศ. 344- 413) ภิกษุชาวอินเดียผู้มีความชำนาญด้านภาษาถึง 10 ภาษา เป็นผู้ก่อตั้งสำนักแปลพระคัมภีร์ซึ่งรวบรวมบัณฑิตทั้งฝ่ายจีนและอินเดียไว้กว่า 800 ท่าน ผลงานที่โดดเด่น เช่น ศตศาสตร์ (百倫) ปรัชญาปารมิตาสูตร (般若經) เป็นต้น

—–นอกจากนี้ช่วงปลายสมัยจิ้นยังมีภิกษุจีนรูปแรกที่เดินทางไปยังอินเดียสำเร็จ นามว่า หลวงจีนฟาเหียน (法顯 ค.ศ. 334 – 420) โดยออกเดินทางจากเมืองลั่วหยางในปี ค.ศ. 399  ใช้เวลากว่า 6 ปีในการเดินทางไปถึงอินเดีย จากนั้นอยู่คัดลอกพระคัมภีร์อีก 4 ปี แล้วจึงข้ามไปแสวงหาพระคัมภีร์ต่อที่เกาะศรีลังกาอีก 2 ปี ก่อนจะเดินทางกลับประเทศจีนพร้อมกับพระสูตรและพระพุทธรูปจำนวนมาก รวมใช้เวลาทั้งสิ้น 15 ปี

—–ในส่วนของงานพุทธศิลป์เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ ระยะเวลานี้การสร้างพุทธรูปมีลักษณะเด่นคือ พระนลาฏกว้าง (หน้าผากกว้าง) พระนาสิกแหลม แย้มพระสรวลเล็กน้อย ดูอ่อนโยนแต่ก็แฝงความน่าเคารพยำเกรง รอบพระเศียรมีรัศมีรูปเปลวไฟ ต่อมาเกิดความนิยมสร้างวัดในถ้ำ พระพุทธรูปจึงเปลี่ยนจากงานประติมากรรมนูนสูงในยุคแรกเป็นการแกะสลักหน้าผา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือถ้ำหินหลงเหมิน (龍門石窟) ในมณฑลเหอหนัน (河南)

—–เมื่อเข้าสู่ราชวงศ์สุย (隋 ค.ศ.581 – 618) ในสมัยฮ่องเต้สุยเหวินตี้ (隋文帝 ค.ศ. 541 – 604) และฮ่องเต้สุยหยางตี้ (隋煬帝ค.ศ. 569 – 618) เป็นยุคที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างเด่นชัด มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเก่าแก่ทั่วประเทศ สร้างวัดใหม่กว่า 3,000 แห่ง สร้างเจดีย์ใหม่กว่า 100 องค์ และประกาศให้วัดต้าซิงซ่าน (大興善寺) เป็นศูนย์กลางการแปลพระคัมภีร์

—–ต่อมาในยุคราชวงศ์ถัง (唐 ค.ศ.618-907) กล่าวได้ว่าช่วงเวลานี้เป็นยุคทองของพุทธศาสนาบนแผ่นดินจีน พุทธศาสนาไม่เพียงมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ และการเมืองการปกครองของราชสำนักจีนเท่านั้น แต่ยังเผยแผ่ไปสู่ประเทศใกล้เคียงอย่างเกาหลีและญี่ปุ่นอีกด้วย เหตุที่พุทธศาสนาได้รับความนิยมอย่างสูงสุด เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นปกครองอย่างต่อเนื่อง ฮ่องเต้ทำนุบำรุงกิจการทางศาสนาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยฮ่องเต้ถังไท่จง (唐太宗 ค.ศ. 599 – 649) พระนางบูเช็คเทียน (武則天 ค.ศ. 624 – 705) และฮ่องเต้ถังเสวียนจง (唐玄宗 ค.ศ. 685 – 762) ที่ทรงให้ความสำคัญกับการสร้างวัดและการสร้างพระพุทธรูป เกิดสำนักสือต้าเต๋อ (十大德) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อปกครองและคุมวินัยภิกษุภิกษุณีที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

—–ช่วงเวลานี้มีภิกษุที่สำคัญ 2 รูปคือ พระเสวียนจั้ง (玄奘 ค.ศ. 602 – 664) ผู้ตั้งมั่นจะอัญเชิญพระสูตรจากอินเดียมายังแผ่นดินจีน แม้ระหว่างทางได้ประสบกับอุปสรรคนานัปการ ทั้งหนทางที่ทุรกันดาร ฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ ตลอดจนนายด่านของแต่ละเมืองที่ไม่ยอมให้ผ่านด่าน แต่ท้ายที่สุดก็อัญเชิญพระสูตรกลับมายังประเทศจีนได้สำเร็จ บั้นปลายชีวิตท่านเป็นผู้นำในการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน จนได้รับสมญานามว่า ‘ถังซัมจั๋ง[4]’ (唐三藏) นอกจากนี้ยังมีภิกษุอีกหนึ่งรูปที่มีบทบาทไม่แพ้กันคือสมณะอี้จิ้ง (義淨 ค.ศ. 635 – 713) ผู้เดินทางไปยังอินเดียและแคว้นน้อยใหญ่อื่นๆ กว่า 30 แคว้นเพื่อศึกษาพระธรรมคำสอน ผลงานเด่นของท่านคืองานแปลคัมภีร์จำนวน 230 ผูก และงานประพันธ์อีก 5 ชุด ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับจดหมายเหตุพุทธศาสนา

พระพุทธรูปศิลปะแบบคุปตะ

—–การติดต่อกับชาติอื่นๆ ในสมัยราชวงศ์ถังส่งผลต่องานพุทธศิลป์โดยตรง ในยุคนี้พระพุทธรูปจะมีลักษณะคล้ายมนุษย์มากขึ้นเพราะได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบคุปตะ[5]ของอินเดีย มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติจาก ‘ยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์’ สู่ ‘ความเมตตาการุณย์’ ส่งผลให้พระพุทธรูปสมัยนี้มีพระพักตร์อิ่มเอิบ ดูสงบนิ่ง เปี่ยมเมตตาและสง่างาม เทคนิคการสร้างก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนสามารถสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ยักษ์ได้อย่างสมส่วน เช่น หลวงพ่อโตเล่อซาน (樂山大佛) ที่มีความสูงกว่า 70 เมตร พระเศียรกว้าง 10 เมตร ยาว 14 เมตร ดูสูงใหญ่องอาจสื่อถึงความเข้มแข็งหนักแน่นของเพศชาย แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงด้วยความเมตตาอ่อนโยนแบบเพศหญิง จึงมักมีคนกล่าวว่าพระพุทธรูปในช่วงเวลานี้เป็นเหมือนภาพสะท้อนของฮ่องเต้แต่ละรัชสมัย เช่น พระใหญ่ไวโรจนะ (盧舍那大佛) พระพุทธรูปแกะสลักผาหินขนาดใหญ่ที่ถ้ำหินหลงเหมิน ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นเลิศด้านความงดงามทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นพระนาสิกโด่งเป็นสันที่รับกับพระพักตร์อิ่มเอิบ และพระเนตรที่หลบลงต่ำมองสู่เบื้องล่างได้ระยะเหมาะสม จนนักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่ามีพระพักตร์คล้ายกับพระนางบูเช็คเทียน

—–ในขณะที่พุทธศาสนาบนแผ่นดินจีนกำลังเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากนั้นไม่นานก็เผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ เมื่อฮ่องเต้ถังอู่จง (唐武宗 ค.ศ. 814 – 846) ขึ้นครองราชย์ ทรงเห็นว่าไม่ควรรับวัฒนธรรมต่างชาติจึงสนับสนุนลัทธิเต๋าอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็กำจัดศาสนาและลัทธิต่างชาติอื่นๆ จนหมดสิ้น ทรงมีรับสั่งให้ทำลายพุทธศาสนาสถาน บังคับให้ภิกษุและภิกษุณีลาสิกขาบท แม้กระทั่งที่ดิน ทรัพย์สิน และทาสของวัดก็ถูกยึดเป็นของแผ่นดิน

—–แม้ช่วงปลายราชวงศ์ถังจะมีการกวาดล้างทางศาสนาครั้งใหญ่ แต่พุทธศาสนาก็ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งจากการสนับสนุนของฮ่องเต้บางพระองค์ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋 ค.ศ.960 – 1279) เช่น ฮ่องเต้ซ่งไท่จง (宋太宗 ค.ศ. 939 – 997) ผู้ตั้งสำนักแปลพระสูตรโดยนิมนต์ภิกษุจากอินเดียมาดูแลงานแปลโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังปรากฏผลงานพุทธศิลป์ที่งดงามจำนวนไม่น้อย โดยทั่วไปแล้วงานพุทธศิลป์สมัยซ่งยังคงสืบทอดมาจากสมัยถัง แต่ให้ความสำคัญกับความสมจริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วน สีหน้า และท่าทางที่อ่อนช้อย แม้กระทั่งริ้วพัสตราภรณ์ก็แกะสลักอย่างประณีตราวกับกำลังพลิ้วไหว งานสร้างสรรค์ในยุคนี้มักเป็นการผสมรวมกันระหว่างพุทธ เต๋า และขงจื่อ ยังใช้เทคนิคการแกะสลักไม้ แกะสลักหิน แล้วแต่งแต้มสีสันด้วยการลงสีอย่างวิจิตรตามแบบของซ่ง ผลงานที่โดดเด่นสมัยนี้คือผาหินแกะสลักแห่งต้าจู๋ (大足石刻) ในมหานครฉงชิ่ง (重慶)

ผาหินแกะสลักแห่งต้าจู๋

—–ในด้านสถาปัตยกรรม การสร้างเจดีย์มีการเปลี่ยนแปลงจากเจดีย์ไม้ในยุคต้นเป็นเจดีย์โลหะและเจดีย์กระเบื้อง เจดีย์สูงๆ จะพบได้เฉพาะบริเวณชานเมืองเท่านั้น ส่วนเจดีย์ในเมืองจะสร้างไม่ให้ดูสูงกว่าหอกลองและป้อมประตูเมืองของทางการเพื่อป้องกันการโดนกล่าวหาว่าวัฒนธรรมต่างชาติอย่างพุทธศาสนาพยายามตีตนเทียบราชสำนักจีน ทั้งยังให้ความสำคัญกับการจัดวางองค์ประกอบ เช่น การสร้างวิหารต่างๆ รวมไปถึงหอกลอง หอระฆังในวัดจะต้องไล่ระดับสูงต่ำและกระจายตัวซ้ายขวาอย่างสมดุล

—–หลังจากนั้นพระพุทธศาสนาก็เริ่มแพร่หลายในหมู่ชาวบ้าน ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในราชสำนักและชนชั้นสูงอีกต่อไป มีการสร้างวัดมากมายทั้งวัดหลวงและวัดราษฏร์ พุทธศาสนาดำรงอยู่บนแผ่นดินจีนร่วมกันลัทธิอื่นอย่างขงจื๊อ เต๋า ฯลฯ โดยยึดหลักการปรับตัวและกลมกลืน บางช่วงที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นปกครองก็รุ่งเรืองกว่าลัทธิอื่นๆ บางช่วงก็ถูกกวาดล้างจนเหลือเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ที่ยังคงเลื่อมใสศรัทธา

—–จนมาถึงสมัยสาธารณรัฐจีน (ค.ศ.1912) รัฐบาลไม่สนับสนุนพระพุทธศาสนา ซ้ำร้ายยังนำวัดไปใช้เป็นสถานที่ราชการ จนพระอาจารย์ไท่ซวี (太虛) เป็นแกนนำในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศจีนในปี ค.ศ.1922 จึงทำให้พุทธศาสนาเริ่มกลับมามีบทบาทบนแผ่นดินจีนอีกครั้ง

—–หลังจากนั้นไม่นานประเทศจีนก็เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ (ค.ศ.1949) ซึ่งมีหลักการขัดกับพระพุทธศาสนาอยู่หลายประการ ฝ่ายรัฐบาลต้องการกวาดล้างพุทธศาสนาจึงออกมาตรการต่างๆ เพื่อบีบให้ภิกษุลาสิกขาบท เช่น การเพิกถอนสิทธิในการยึดครองที่ดินของวัด การให้ภิกษุทำไร่ทำนาหากินเอง และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966-1976) เมื่อรัฐบาลประกาศห้ามประกอบศาสนกิจ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาถือเป็นความผิดทางกฎหมาย วัด พระพุทธรูป และพระคัมภีร์ต่างๆ ถูกเผาทำลายเป็นจำนวนมากส่งผลให้พระพุทธศาสนาเกือบสูญหายไปจากประเทศจีน จนกระทั่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหมาเจ๋อตง (毛澤東) ถึงแก่อสัญกรรม รัฐบาลใหม่จึงค่อยๆ ลดความเข้มงวดลง

—–ต่อมาจึงมีประกาศให้เสรีภาพประชาชนในการนับถือศาสนา ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็เข้ามามีบทบาทในการร่วมฟื้นฟูพุทธศาสนามหายานบนแผ่นดินจีน มีการจัดตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศจีนและสภาการศึกษาพระพุทธศาสนาแห่งประเทศจีนขึ้นในกรุงปักกิ่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางการติดต่อเผยแผ่พระพุทธศาสนากับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปัจจุบันนี้พุทธศาสนิกชนชาวจีนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับลัทธิขงจื๊อ และลัทธิเต๋าอย่างผสมผสานกลมกลืนกัน

 

[1] ตงอี๋ คือ ชนกลุ่มน้อยที่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณด้านตะวันออกของประเทศจีนในสมัยโบราณ

[2] แคว้นต้าโร่วจือ คือ แคว้นในสมัยโบราณ (200 – 5 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ในอดีตเป็นดินแดนสำคัญในการติดต่อกับแคว้นฝั่งตะวันตก ปัจจุบันคือบริเวณตั้งแต่มณฑลกานซู่ (甘肅) ไปจนถึงถ้ำตุนหวง (敦煌)

[3] ศิลปะแบบคันธาระ คือ ศิลปะที่เกิดจากการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมของอินเดียและกรีก-โรมันเข้าด้วยกัน มีลักษณะเด่นคือ พระพักตร์คล้ายเทพอพอลโล มีเส้นพระเกศาหยิกสลวย มีรัศมีอยู่หลังพระเศียรตามความเชื่อของกรีก ห่มผ้าคลุมแบบริ้วธรรมชาติ มีอุณาโลมระหว่างคิ้ว มีอุษณีษะศีรษะ (กะโหลกส่วนที่นูนขึ้นมากลางศีรษะ) และพระกรรณยาว

[4] ถังซัมจั๋ง คือ ธรรมาจารย์ด้านพระไตรปิฎกแห่งราชวงศ์ถัง

[5] ศิลปะแบบคุปตะ คือ ศิลปะที่งดงามตามแบบฉบับอินเดียโดยแท้ พระพุทธรูปในช่วงนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุด มีลักษณะเด่นคือ พระพักตร์เป็นแบบอินเดีย พระเกศาขมวดเป็นก้นหอย พระอังสะกว้าง บั้นพระองค์เล็ก ห่มจีวรบางแนบติดพระองค์ ไม่มีริ้ว นิยมสร้างในปางประทับนั่ง

เรื่องโดย บุณฑริกานารี